จากโมเดล Little Free Library ที่เป็น เพียงแนวคิดเล็กๆของ Todd Bol และ Rick Brooks สองสหาย ในเมืองวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มต้น ติดตั้งตู้ไม้ลักษณะคล้ายบ้านหนังสือ หรือ Book House เพื่ออุทิศแด่แม่ซึ่งเป็นคนรักหนังสือเป็นชีวิตจิตใจและครูในโรงเรียนผู้ล่วงลับ เพียงเพื่อต้องการให้เกิดสังคมแบ่งปันหนังสือสำหรับคนที่รักการอ่าน ในปี 2009 จนกลายมาเป็นไอเดียที่แพร่ขยาย ออกไปในหลายๆประเทศทั่วโลก ในเวลาเพียงไม่กี่ปี และทำให้ Little Free Library ได้ก่อตั้งเป็นองค์กร ไม่แสวงหาผลกำไรในอีก 3 ปีต่อมา จนถึงปัจจุบัน

การระบาดของ COVID-19 ระลอกแรกและระลอกสอง ในปีที่ผ่านมา แนวคิด Little Free Library ได้ถูกพัฒนาส่งต่อเป็นไอเดียของการจัดทำ Free Pantry Food Sharing ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดจากการกักตุนสินค้าในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

Free Pantry Food Sharing หรือที่คนไทย รู้จักกันในชื่อของ “ตู้ปันสุข” ถือว่าเป็นสุดยอดไอเดียของการแบ่งปันยุค New Normal ในเวลานั้น ผู้คนในหลากหลายเมืองทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย พากันตั้ง “ตู้ปันสุข” ให้คนนำอาหารมาบริจาค และหยิบอาหารที่ต้องการไปกินได้ตามความจำเป็น

...

มาถึงการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เป็นช่วงที่ผู้คนเหนื่อยล้า และเศรษฐกิจก็ถดถอยล้มระเนระนาดไม่เป็นท่า หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อย่างหนักไม่แพ้ธุรกิจโรงแรม และอื่นๆคือ “ร้านอาหาร”

“พันชนะ วัฒนเสถียร” หรือเต้ ผู้ก่อตั้งร้านอาหารเป็นลาว และยังสวมหมวกนายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อีกตำแหน่งหนึ่ง จึงได้ริเริ่มโครงการ Food For Fighters หรือ “ข้าวเพื่อหมอ” ขึ้น เพื่อระดมทุนจัดส่งเสบียงสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ที่กำลังทำงานอย่างหนักในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด ขณะเดียวกันก็ช่วยประคองกิจการของร้านอาหารให้สามารถเลี้ยงตัวเองต่อไปได้

พันชนะ เล่าว่า หลังแชร์ไอเดียกับเพื่อนๆผู้ประกอบกิจการร้านอาหารด้วยกัน ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ก็มีกระแสตอบรับจากกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารทั้งในอำเภอปากช่อง และจังหวัดอื่นๆเข้ามาทันที

“เราอยู่ในธุรกิจนี้ รู้เลยว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกนาน อย่างเราเองมีร้านที่เขาใหญ่ พอเกิดระบาดรอบที่แล้ว ก็ต้องปิดร้าน พอร้านปิดก็ไม่ใช่เราแล้วที่ลำบากคนเดียว อีกหลายปากหลายท้องที่เป็นเหมือนครอบครัว ของเรากระทบแน่ ยังไม่รวมผู้ประกอบการเล็กๆน้อยๆที่ก็อยู่ไม่ได้มานานแล้ว ก็จะยิ่งอยู่ไม่ได้ต่อไปอีก เพราะสถานการณ์การระบาด ยืดเยื้อ ยาวนาน หลายคนหันมาสู้ด้วยการทำดีลิเวอรี แต่ก็สู้ไม่ไหว เพราะพอเข้าสู่โปรแกรมจัดส่ง ก็ต้องหักค่าส่งไปอีก 10-35% กลายเป็นยิ่งทำยิ่งขาดทุน” พันชนะบอก พร้อม กับแชร์ไอเดียให้ฟังอีกว่า “Food For Fighters” เกิดขึ้นจากการมองภาพ 2 มิติ ในมิติของบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เขาก็เหมือนนักรบเสื้อกาวน์ ที่รับศึกหนัก ในมิติผู้ประกอบการ ถ้ามีโครงการสักโครงการหนึ่ง ช่วยให้อยู่ได้ ดูแลลูกน้องได้ในยามยาก ก็น่าจะเป็นจุดที่ลงตัว Win win situation

จากไอเดียเล็กๆ กลายเป็นโครงการใหญ่ พันชนะเริ่มระดมทุน ทั้งเปิดรับบริจาควัตถุดิบ ในการทำอาหาร หรือจะบริจาคเป็นเงินก็ได้ จากนั้นก็กระจายไปยังร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ โดยการสั่งซื้อข้าวกล่องในราคากล่อง ละ 50 บาท เพื่อให้เกิดรายได้ในการดูแล พนักงานและนำอาหารกล่องเหล่านี้ไปบริจาค ต่อให้กับแพทย์ พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุข ที่ต้องทำงานอย่างหนักทั้งใน รพ.และที่ต่างๆ

“เป้าหมายของเรา คือ การจัดส่งอาหารจำนวน 3,000 กล่องต่อวัน โดยราคาข้าวกล่อง กล่องละ 50 บาท เป็นตัวเลขที่ผ่านการคำนวณ แล้วว่าจะประคับประคอง ให้ผู้ประกอบการและลูกจ้างผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้” พันชนะ บอกและว่า ปกติต้นทุนการผลิตของร้านอาหาร ถ้าอาหารราคา 100 บาท ต้นทุนจะอยู่ที่ 30-35% ซึ่งถ้าตัดค่าใช้จ่ายในการจัดส่งออก ก็น่าจะพอรับได้ที่ราคากล่องละ 50 บาท ขณะเดียวกัน แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข ก็จะได้ทานอาหารที่ดีๆมีคุณภาพ มีพลังในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิดได้นานๆ

Food For Fighters เปิดแพลตฟอร์มการรับบริจาค https://social.sinwattana.com/viewCampaign/9K0P8D1SV59813โดยสามารถสอบถามรายละเอียดและติดตามได้ที่ Facebook : Food For Fighters https://www.facebook.com/FoodForFightersTH และล่าสุดยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัทเวิลด์ รีวอร์ด โซลูชัน จำกัด, Silver Voyage Club, มูลนิธิคุวานันท์ เปิดศูนย์รับข้อมูล (Call Center) โทร. 0-2016-9910 ทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการรับบริจาค หรือต้องการสั่งข้าวกล่อง ผลไม้กล่องให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลใด หรือมอบให้กับอาสาสมัคร กลุ่มเปราะบางก็สามารถติดต่อได้ ตามช่องทางนี้ ทีมงานก็จะประสานในการรับบริจาค และส่งต่อการบริจาคให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ผู้บริจาคระบุต่อไป

“ก็แค่หวังว่า โครงการนี้จะเป็นโมเดลขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน วันนี้สิ่งที่เราไม่มีคือต้นทุน แต่สิ่งที่เรามี คือ “ทุน” ทุนทางใจ ทุนทางสังคม ทุนทางความคิด อันนี้เป็นทุนที่ไม่มีวันขาดทุน เราเชื่ออย่างนั้น และวันนี้ ถ้าเราไม่สู้ เราก็ไม่รอด แต่ถ้าได้สู้ด้วย ได้ทำสิ่งดีๆด้วย เราจะรอดไปด้วยกัน” พันชนะทิ้งท้าย.