น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พันคนต่อวัน และขยายวงกว้างไปเกือบทุกจังหวัด พฤติกรรมหนึ่งที่ทำให้โควิด-19 ขยายวงกว้างและเร็ว คือ การไปผับบาร์ ดื่มเหล้าสังสรรค์ โดยไม่สวมหน้ากาก และไม่เว้นระยะห่าง เพราะการดื่มเหล้าทำให้ความสามารถในการตัดสินใจบกพร่องตั้งแต่ดื่มแก้วแรก เมื่อร่างกายมีแอลกอฮอล์ในเลือดจะทำให้ขาดการยับยั้งชั่งใจ กระบวนการคิดและการเคลื่อนไหวแย่ลง เช่น การกอด การยืนใกล้กันมากเกินไป การมีกิจกรรมที่เพิ่มอัตราการหายใจแรงขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้เอื้อต่อการแพร่เชื้อชัดเจน อีกทั้งเกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด มีอากาศถ่ายเทน้อยจนทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ การหยุดดื่มเหล้า งดงานเลี้ยงสังสรรค์จะช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดได้
ด้าน ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า พบข้อมูลวิชาการจำนวนมากชี้ชัดว่า การดื่มเหล้าหนักนอกจากเพิ่มความเสี่ยงให้คนดื่มเหล้าสัมผัสเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ยังทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เพราะเหล้าทำให้อวัยวะในร่างกาย เช่น ปอด ตับ ลำไส้ เสื่อมและทำงานผิดปกติ และเมื่อดื่มเหล้าในปริมาณมากและติดต่อกันนานจะเข้าไปทำให้ภูมิคุ้มกัน 2 ชนิดในร่างกายบกพร่อง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (innate) และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired) นอกจากนี้ การดื่มเหล้ายังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถตรวจจับ กำจัด และทำลายเชื้อโควิด-19 หรือต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดใหม่ๆได้ โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.แอลกอฮอล์ไปเพิ่มจำนวนตัวรับซึ่งเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อ 2.แอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากเกินปกติ อวัยวะทำงานผิดปกติ จนมีภาวะแทรกซ้อน อักเสบรุนแรง และ 3.แอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อบกพร่อง.
...