การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “โควิด-19” ยังน่ากังวลคนไม่น้อยฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” โดยมีข้อมูลพื้นฐานให้เชื่อมั่นได้ว่า หากได้ฉีดวัคซีน 60–70% ของประชากรทั้งหมดแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างปลอดภัย

คำถามสำคัญมีว่า...จะเพียงพอหรือไม่?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าต้องฉีด 100% เพราะถ้าฉีด 60 ถึง 70% คนที่เหลือที่ยังไม่ได้ฉีดก็ยังติดเชื้อได้...ประเทศบราซิลในเขตเฉพาะเป็นตัวอย่างที่ติดเชื้อตามธรรมชาติถึง 76% ของคนในพื้นที่

ซึ่งควรจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด แต่แล้วก็มีการแพร่ไปเงียบๆและกระจายไปทั่วประเทศจนปะทุใหม่ปลายเดือนธันวาคมและเป็นเชื้อใหม่

น่าสนใจด้วยว่า “คนที่ฉีด” ไปแล้วก็ยัง “ติดเชื้อ” ได้

ถึงแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม และขึ้นอยู่กับตัวของผู้ได้รับวัคซีนเองด้วย ไม่ได้ขึ้นกับชนิดของวัคซีนอย่างเดียว เมื่อติดก็สามารถจะแพร่กระจายไปเรื่อยๆ แม้หวังว่าปริมาณของเชื้อที่ปล่อยออกมาจะน้อยกว่าและสั้นกว่าธรรมดา...ซึ่งการแพร่ไปเรื่อยๆจะอนุโลมให้ไวรัสกลายพันธุ์เอง โดยที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

...

หัวใจสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างก็คือ “คัดกรอง” ต้องเร็วที่สุดและ “แยกตัว” ทันที

“การคัดกรองที่เข้าถึงได้ทุกคน” เป็นกุญแจสำคัญ หมอดื้อ บอกว่า เรื่องนี้พูดแล้วพูดอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่มีนาคม 2563

“การคัดกรองว่ามีใครติดเชื้อหรือไม่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่จะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและหยุดการระบาดให้ได้เพื่อทำให้เศรษฐกิจไม่ล่มจม ทั้งนี้เนื่องจากการแพร่เชื้อที่สำคัญจะมาจากคนที่ไม่มีอาการแทบทั้งสิ้น”

การคัดกรองด้วยวิธีการหาเชื้อแยงจมูก ด้วยกระบวนการพีซีอาร์ ไม่สามารถระบุได้จากการตรวจเพียงครั้งเดียวและต้องการการตรวจซ้ำสองถึงสามครั้งทำให้งบประมาณบานปลาย และการปฏิบัติยังทำได้ยาก และเกิดความล่าช้า และความเสี่ยงทั้งผู้ปฏิบัติงานและในห้องแล็บ

การตรวจคัดกรองและสามารถวินิจฉัยได้ด้วยความแม่นยำและความไว 100% สามารถกระทำได้โดยการตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันซึ่งจะเป็นเครื่องชี้บอกว่าเกิดการติดเชื้อขึ้นแล้วและสามารถกระทำได้ทั้งในคนที่มีและไม่มีอาการก็ตาม

สำหรับ “คนที่มีอาการ” รายงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร PlosONe และสำหรับคนที่ไม่มีอาการนั้นล่าสุดจากกรณีของการระบาดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปรียบเทียบคนที่ไม่มีอาการ 55 รายที่ปล่อยเชื้อได้จากการตรวจด้วยกระบวนการพีซีอาร์ พบว่าการตรวจเลือดสามารถระบุได้ 100%

...เป็นการยืนยันข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ทดสอบในปี 2563 และตรวจในพื้นที่ต่างๆ รวมเป็นหมื่นรายการตรวจคัดกรองเชิงรุกประกอบด้วย หนึ่ง...การตรวจเลือดต้องทำทุกคน

ถัดมา...วิธีการตรวจด้วยชุดการตรวจมาตรฐาน Elisa เช่นของศูนย์ปฏิบัติการโรคอุบัติใหม่สภากาชาดไทยจุฬา ซึ่งยืนยันความไวและความจำเพาะแล้ว และเป็นวิธีเดียวกันกับที่ US FDA ให้การรับรองในการใช้ตรวจ ยี่ห้อ genscript Cpass

สาม...การตรวจที่สมบูรณ์จะเป็นการตรวจ IgM IgG และภูมิที่ยับยั้งไวรัสได้หรือที่เรียกว่า Neutralizing antibody (NT) ราคา 1,000 บาท แต่ขั้นตอนในการคัดกรองสามารถตรวจแต่ IgM IgG ได้ ราคา 400 บาท สี่...เมื่อได้ผลเป็นบวกไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่งต้องทำการคัดแยกตัวทันที และปฏิบัติการตรวจต่อว่าแพร่เชื้อได้หรือไม่ ด้วยกระบวนการพีซีอาร์ ซึ่งต้องตรวจอย่างน้อยที่สุดสองครั้ง

ห้า...ในคนที่เลือดเป็นบวกและพิสูจน์แล้วว่าไม่มีเชื้อปล่อยออกมาดังข้อสี่จึงสามารถปล่อยจากการกักตัวได้กระบวนการเหล่านี้ถือว่าเป็นบับเบิล แอนด์ ซีล จนกระทั่งสามารถปล่อยตัวออกมาสู่สังคมได้

หก...กระบวนการสุดท้ายคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคัดกรองจากการตรวจเลือดด้วย Elisa ที่ต้องส่งเลือดมายังห้องปฏิบัติการ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงเป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วและหาภูมิคุ้มกัน (rapid test)

เจ็ด...ชุดการเจาะเลือดปลายนิ้วต้องมีคุณสมบัติของการคัดกรองที่สมบูรณ์คือมีความไว 100% นั่นคือคนที่ติดเชื้อทุกรายจะต้องมีผลบวกทั้งสิ้น แต่แน่นอนจะมีผลบวก (+) เกินในระดับที่รับได้ คือประมาณ 2-5%

ทั้งนี้จุดเด่นก็คือประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ สถานบริการสถานที่ที่ต้องมีคนใช้ประกอบกิจกรรม แม้กระทั่งโรงเรียนสถานศึกษานำไปใช้ได้ และคนไทยทุกคนสามารถประเมินตนเองได้

แปด...การตรวจเลือดไม่ว่าจะเป็นการตรวจแบบมาตรฐาน Elisa หรือการตรวจปลายนิ้วในคนที่มีกิจกรรมตลอดเวลาไปทำงานขึ้นรถสาธารณะมีโอกาสรับเชื้อและแพร่เชื้อจะต้องทำการตรวจทุกเจ็ดวัน ทั้งนี้เนื่องจากว่าการติดเชื้อในสี่ถึงห้าวัน...การตรวจเลือดจะไม่เป็นบวกและการตรวจหาเชื้อไม่เป็นบวกเช่นกัน

แน่นอนว่า...การตรวจเชิงรุกจริงๆในชุมชน ด้วยวิธีที่ได้ผลเร็ว ดี ถูก...เท่านี้ก็รอดแล้ว เพราะเมื่อเจอเร็ว ก็แยกตัวได้เลย หรือถ้ารู้ว่า สุ่มเสี่ยงอยู่ในวงระบาดก็กักตัวเองกันแต่เนิ่นๆ

“กักตัวที่บ้าน” ทำอย่างไร? ศ.นพ.ธีระวัฒน์ยอมรับว่า ไม่คิดว่าสถานการณ์ในวันนี้จะเลวร้ายกว่าปีที่แล้ว คงต้องย้ำชัดๆกันอีกรอบ การกักตัวเริ่มจาก...ไม่ให้ไปทำงาน ไม่ใช่หมายความว่าให้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ซึ่งถ้าติดเชื้อก็สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการด้วยซ้ำ และแม้มีอาการก็อาจน้อยนิด แต่ปล่อยเชื้อได้

ถัดมา...ให้อยู่บ้าน ไม่ใช่หมายความว่า อยู่พักผ่อนสังสรรค์กันในครอบครัวอย่างใกล้ชิดชวนเพื่อนมาจัดปาร์ตี้...แล้วอยู่บ้านอยู่ยังไง? ก็แยกอยู่คนเดียวห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ควรใส่หน้ากากอนามัยชนิดจริงๆ ไม่ใช่ทำจากผ้า เพราะถือว่าขณะนี้ตนเองเป็นคนปล่อยเชื้อได้ แยกจานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ

เมื่อเข้าห้องน้ำ ถ้าอยู่บ้านหรูหรา ก็ยึดห้องน้ำหนึ่งห้องไปเลย แต่ถ้าเราเป็นคนธรรมดาต้องใช้ห้องน้ำรวม รอให้คนอื่นเข้าจนเสร็จก่อนและเข้าคนสุดท้าย...จัดการทำความสะอาดทุกสิ่งอย่างในห้องน้ำด้วยน้ำกับสบู่ หรือที่แน่นอนคือ น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งอ่างน้ำ ก๊อก ชักโครก ลูกบิดประตู

...กรณีอยู่บ้านคนเดียว ถ้าคนอื่นทำงานนอกบ้าน คนที่ถูกกักเอาโทรศัพท์ไว้ข้างๆตัว เกิดมีอาการอะไรจะได้โทร.บอกคนอื่นได้ ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งอยู่คนเดียว สลบไสลอยู่ไม่มีใครรู้

หากเกิดมีอาการขึ้นทำไงต่อ? ข้อนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าข้ออื่น ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า รถที่จะนำไปส่งโรงพยาบาล ต้องแจ้งคนขับแท็กซี่ หรือถ้าจะใช้รถส่วนตัวต้องทำการล้างห้องโดยสารทั้งห้องอย่างสะอาดเอี่ยม

“อย่าขึ้นรถประจำทางสาธารณะ หรือไม่ก็โทร.แจ้งโรงพยาบาลให้ส่งรถมารับ”

รายละเอียดปลีกย่อยอื่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ ก็ต้องซักแยกต่างหากออกจากคนอื่นอย่างเด็ดขาด สุดท้าย...ถามว่าจะเก็บกักตัวไปนานเท่าไหร่? ก็เอาตามมาตรฐานคือ “14 วัน” แม้ว่าจะมีรายงานว่าระยะฟักตัวยาวถึง 24 หรืออาจถึง 27 วัน เอาเบาะๆแค่นี้ จะทำได้มั้ย

ตื่นตัว...อย่าตื่นตูม ร่ายคาถาการ์ดอย่าตก ท่องไว้ให้แม่นๆรับมือไวรัสร้ายแห่งปี “โควิด–19”.