เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติให้เปิดเรียนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.หลังการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่นั้น ขณะนี้ได้มีการเปิดเรียนมาครบ 15 วันแล้ว ซึ่งเดิมจะมีการประเมินภาพรวมการเปิดเรียนในวันที่ 15 ก.พ. แต่ ศบค.จะประเมินในวันที่ 28 ก.พ.นี้ โดยเบื้องต้นการเปิดเรียนมาแล้ว 15 วันของจังหวัดเฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย การจัดการเรียนการสอนได้มีการสลับวันเรียนอยู่และไม่เกิน 25 คนต่อห้อง

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมีเสียงสะท้อนว่าอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแผนรองรับ เรื่องการเรียนการสอนในสถานการณ์วิกฤตินี้ให้ชัดเจนนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำความร่วมมือกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือดีแอลทีวี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะสร้างแพลตฟอร์มการศึกษาในรูปแบบ ON AIR ผ่านช่องโทรทัศน์ของ DLTV ตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึง ม.6 เพื่อใช้รองรับวิกฤติอื่นๆ ในอนาคตที่อาจทำให้นักเรียนไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ ส่วนเด็กที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีต่างๆก็มีการจัดการเรียนการสอนแบบ ON HAND โดยการแจกแบบฝึกหัดเป็นรูปแบบใบงานให้เด็กกลับไปทำที่บ้าน

ขณะที่ นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในระหว่างร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสุขภาพนักเรียนตามแนววิถีชีวิตใหม่ “เสริมพลังสร้างความเชื่อมั่นตามมาตรการยกระดับความปลอดภัย มั่นใจสุขอนามัยไร้โควิด-19 ในสถานศึกษา” ที่ ร.ร.ทวีธาภิเศก ว่า จากรายงานผลการติดตามประเมินผลสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ พบว่า ผลกระทบจากการปิดภาคเรียนที่มีต่อตัวเด็กด้านพัฒนาการเด็กล่าช้ามากขึ้น เด็กอนุบาลเรียนออนไลน์ไม่ได้ เด็กในเมืองสั่งอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ร้อยละ 60 เด็กชนบทไม่ได้รับอาหารกลางวัน เด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ ผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กได้เต็มที่ ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ ครูมีความเครียดมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มกับระบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป.

...