นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กอศ.) กล่าวว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายเรื่องการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) เพื่อรองรับสำหรับธุรกิจต่างๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละภูมิภาคนั้น ขณะนี้วิทยาลัยอาชีวศึกษาแต่ละแห่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการกำหนดสาขาวิชาที่มีความโดดเด่นของแต่ละวิทยาลัยแล้ว แต่ในส่วนของสาขาอื่นๆ ที่เป็นความต้องการของสังคมในพื้นที่นั้นๆ วิทยาลัยก็ยังคงเปิดการเรียนการสอนอยู่ เพื่อที่จะดึงดูดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา เพียงแต่ให้แต่ละวิทยาลัยได้มีการยกระดับสาขาที่มีความโดดเด่นชัดเจนของตัวเองขึ้นมา 1 สาขาเท่านั้น โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่ หรือความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละวิทยาลัย ทั้งนี้ สอศ.มีนโยบายที่จะมุ่งส่งเสริมอย่างเต็มที่ และในระยะยาวเชื่อว่าวิทยาลัยจะสามารถผลิตวิชาชีพเฉพาะทางในด้านนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง
เลขาธิการ กอศ. กล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมของการรับนักศึกษาอาชีวศึกษาประจำปีการศึกษา 2563 ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พบว่ามีผู้เรียนให้ความสนใจสมัครเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนที่เพิ่มจากปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 10 ทั้งในส่วนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือว่าเป็น
ไปตามเป้าหมายหลักที่ สอศ.ได้ตั้งไว้ แม้จะไม่ได้จำนวนตามเป้าหมายอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จึงอาจจะเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการสมัครเข้าศึกษาต่อในบางพื้นที่
...
นายณรงค์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การสมัครเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษา สังกัด สอศ.พบว่าสาขาที่ได้รับความนิยมมีผู้สมัครเข้าศึกษาจำนวนมาก คือ สาขากลุ่มเครื่องยนต์ สาขาไฟฟ้า และสาขาเกษตรกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ตนมองว่าสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้จำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดสาขาวิชาใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจจากสังคม อีกประเด็นสำคัญขณะนี้ สอศ.ได้เตรียมที่จะผลักดันให้มีการงดเก็บค่าเล่าเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ถือเป็นกำลังหลักที่เป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กที่มีฐานะยากจน ซึ่ง สอศ.ได้เดินหน้าผลักดันให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยได้เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ซึ่งได้มีการเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการจำนวน 1,900 ล้านบาท ทั้งนี้ตนมองว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ถึง 400,000 ครอบครัว.