ให้นักศึกษา 156 สถาบันเรียนออนไลน์ฟรี ทุกเครือข่ายตั้งแต่ เม.ย.นี้

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 156 แห่ง ต้องหยุดการเรียนการสอนที่สถาบันอุดมศึกษา โดยมีนักศึกษาประมาณ 1.6 ล้านคน ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น

ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้นักศึกษาได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินล่าสุด ตนได้หารือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งกลุ่มผู้ให้บริการการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของประเทศไทย ทั้ง ทรู, เอไอเอส และดีแทค ในการสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ โดยนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานี้หรือตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 จะสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ฟรีผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อเรียนในระบบออนไลน์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ด้วยความเร็ว 4 Mbps ไม่มีลิมิตการใช้งาน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงบทเรียน ทำงานและสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักศึกษาในการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สามารถเข้าถึงบทเรียนและติดต่อสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้

“เป็นที่ทราบกันดีว่านักศึกษาบางส่วนอาจไม่จำเป็น เพราะมีระบบอินเตอร์เน็ตพื้นฐานในที่พักอาศัย แต่ยังมีนักศึกษาจำนวนมากที่ขาดความสามารถในการจ่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ปกครองและนักศึกษาอาจขาดรายได้จากการค้าขายและรับจ้างทำงาน ขณะที่ยังมีภาระด้านอื่นๆในการดำรงชีพ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการศึกษามีราคาสูง” ดร.สุวิทย์ กล่าว

...

รมว.อว.กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์สำหรับนักศึกษา อว.ได้เสนอของบประมาณตามจ่ายจริง วงเงินรวมไม่เกิน 240 ล้านบาท เป็นค่าบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินมากกว่าจำนวนดังกล่าว สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้กับนักศึกษาทั้งหมด โดยวงเงินงบประมาณ 240 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จะพิจารณาจัดสรรตามศักยภาพทางการเงินของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา โดยให้ความช่วยเหลือสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพทางการเงินน้อยที่สุดก่อน และหลังจากระยะเวลา 3 เดือนแรก สถาบันอุดมศึกษาจะสามารถบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล.