ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ทปสท.ผลักดันให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พิจารณาหาแนวทางเยียวยาและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกรณีเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา มีอัตราห่างจากข้าราชการครูร้อยละ 8 ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ได้แต่งตั้งคณะอนุ ก.พ.อ. เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา และได้ประชุมเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติเห็นชอบให้มีการเยียวยาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2554 มีข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอานิสงส์ประมาณ 21,000 คน รวมข้าราชการที่เกษียณอายุตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ใช้งบประมาณ 41,000 ล้านบาท มติดังกล่าวจะต้องนำเข้าอนุมัติในที่ประชุม ก.พ.อ.ชุดใหญ่อีกครั้ง

“ทปสท.ผลักดันสำเร็จจนมีมติของอนุ ก.พ.อ.แล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ยังไม่มีการนัดประชุม ก.พ.อ. เพราะไม่ต้องการให้มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีการประชุม ก.พ.อ.เมื่อใด หรือจะประชุมระบบทางไกลได้หรือไม่ เรื่องนี้ก็อาจต้องชะลอออกไปอีก เพราะมติอนุ ก.พ.อ. ต้องนำเข้าที่ประชุม ก.พ.อ.เพื่อขอมติเห็นชอบ และต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ออกเป็นมติ ครม.ต่อไป” ดร.เชษฐากล่าวและว่า ส่วนภารกิจ ทปสท.ที่ต้องชะลออีกเรื่องคือ การเดินสายทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพอย่างเสมอภาคในสถาบันอุดมศึกษาทุกประเภท กำลังเตรียมหาทางใช้ระบบออนไลน์มาเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป.

...