สัปดาห์ก่อนไปสำรวจป่าชายเลน อ.เทพา จ.สงขลา ร่วมคณะไปกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งมีป่าโกงกางใบเล็กอยู่มากมายทั้งยังผสมกลมกลืนด้วย...ต้นตะบูน
ตะบูน ภาคใต้ของบ้านเราเรียกกันว่า หยี่เหร่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xylocarpus obovatus อยู่ในวงศ์ Meliaceae เป็นไม้ต้นขนาดกลางพบแพร่กระจายตามป่าชายเลนทั่วไป ในเขตร้อนยังกระจายในอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย มักพบขึ้นปะปนกับไม้ชายเลนชนิดอื่นๆ อาทิ โกงกาง แสม ฯลฯ
เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ แตกใบใหม่ได้รวดเร็ว ลำต้นมีขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 8-20 ม. โคนลำต้นเป็นพูพอน และมองเห็นรากแตกออกเป็นแขนง มีกิ่งแขนงมากจนแลดูเป็นทรงพุ่มหนา และแผ่กว้าง
เปลือกลำต้นบาง แตกล่อนเป็นแผ่น สีน้ำตาลแดงหรือสีเทาอมขาว คล้ายต้นตะแบก เนื้อไม้เป็นไม้เนื้อแข็ง ใบเลี้ยงเดี่ยว แตกใบออก เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดปลายคู่ ไม่มียอดแขนงใบ ใบย่อยมี 1-2 คู่ ในก้านใบหลัก ใบย่อยมีก้านใบสั้น สีน้ำตาลยาว 3-5 มม. แต่ละใบอยู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบเรียบหนา แต่ค่อนข้างเปราะ
...
ต้นตะบูน...ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และอนุบาลปลา ชาวบ้านมักจะใช้ประโยชน์จากกิ่งก้านไปทำฟืน เปลือกนำมาต้มย้อมแหอวน เพื่อเพิ่มความเหนียว และไม่อมน้ำ ตลอดจนนำไปย้อมเสื้อผ้า จะได้สีน้ำตาลอมแดงติดทนดี
ที่โดดเด่น คือ ผลตะบูน เมื่อดิบสีเขียว ครั้นพอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดง สีสันรูปทรงของผลตะบูนดูน่ากิน แต่เมล็ดนั้นแข็งเปลือกมีสารแทนนิน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดแข็ง สีน้ำตาลรวมเข้าเป็นพูๆ ยามแก่จัดเปลือกจะค่อยๆอ้าออกแล้วร่วงลงสู่พื้นดิน และเมล็ดจะงอกรากเจริญเติบโตต่อไป.