เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการเพื่อจัดสรรน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้ง ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2563 สามารถดำเนินการได้ตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำทุกพื้นที่อย่างเคร่งครัดตรงตามที่กำหนด และมีความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งได้ต่อเนื่องอย่างแน่นอน ทั้งการวางระบบชลประทานเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ และรถยนต์บรรทุกน้ำ โดยกระจายอยู่ตาม สนง.ชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนมากที่สุด ตามนโยบายรัฐบาลด้านการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง จัดทำแผนการจัดสรรน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่

“รัฐบาลมีความเป็นห่วงราษฎรทุกภาคส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายและเน้นย้ำให้กรมชลประทาน รวมถึงทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของราษฎรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระยะนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่อย่างจำกัด จึงขอให้ประชาชนในทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการลดการเพาะเลี้ยงในบ่อปลา บ่อกุ้ง ในระบบชลประทานตลอดฤดูแล้ง รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเจือจางน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศจนถึงต้นฤดูฝนหน้า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำจากข้อมูล ณ วันที่ 17 ธ.ค.2562 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 48,057 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 24,200 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 28,010 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกันนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่กวงอุดมธารา จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำพระเพลิง ลำนางรอง ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา กระเสียว และคลองสียัด ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำอยู่ระหว่าง 31-50% มีจำนวน 9 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ระหว่าง 51-80% จำนวน 13 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มากกว่า 80% จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สิรินธร ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ และนฤบดินทรจินดา.

...