ปัจจุบันเกษตรกรส่วนหนึ่งอัปเกรดตัวเองมาขายของเอง ไม่นั่งรอแต่พ่อค้ามารับเช่นในอดีต โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางสื่อโซเชียล ทั้งเว็บไซต์ เพจ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ
ที่ผ่านมามีการเพิ่มช่องทาง ขายผลผลิตการเกษตรออนไลน์ให้กับเกษตรกรมาบ้าง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากขาดการประชาสัมพันธ์ให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้
แต่ต้นปี 63 กำลังจะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ เมื่อกระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกับบริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ผู้นำอีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพิ่มช่องทางตลาดให้เกษตรกรนำสินค้าไปเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้าได้กันแบบฟรีๆ
เบื้องต้น ทีมงานลาซาด้าจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติวเข้มเพิ่มทักษะให้เกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ให้ความรู้ตั้งแต่การเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ไปจนถึงเทคนิคการโปรโมตสินค้าให้น่าสนใจ การตกแต่งร้านค้าให้โดดเด่น การบรรจุผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการขนส่ง
ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ พัฒนาให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ การแปรรูป และบรรจุสินค้าให้ได้มาตรฐาน
เริ่มต้นที่จัดอบรมให้กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีกว่า 6,000 แปลง เกษตรกรมากกว่า 350,000 ราย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกว่า 86,000 แห่ง สหกรณ์การเกษตรกว่า 3,000 แห่ง และยังมีสมาร์ทฟาร์เมอร์กว่า 11,000 ราย
ครอบคลุมสินค้าเกษตรคุณภาพหลาก หลาย ทั้งกลุ่มพืช พืชผัก/สมุนไพร ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง แมลงเศรษฐกิจ รวมไปถึงกลุ่มข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากผลิตผลการเกษตร
ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ แต่ลืมไปหรือเปล่าเรายังมีกลุ่มเกษตรกรสูงวัยอีกส่วนหนึ่ง ยังขาดทักษะในการเข้าถึงโลกโซเชียล และต้องยอมรับความจริง ยังคงมีบางพื้นที่ อย่าว่าแต่สัญญาณโทรศัพท์เลย น้ำไฟยังเข้าไม่ถึงก็มี.
...