เมื่อ “อวัยวะ” นำมาผ่าตัด “ปลูกถ่าย” ไม่สามารถผลิตขึ้นเองเหมือน “อะไหล่รถยนต์” ในการช่วยผู้ป่วยอวัยวะสำคัญบางอย่างเสื่อมสภาพระยะสุดท้าย ให้กลับมามีชีวิตใหม่ จำเป็นต้องรอการได้รับบริจาคของผู้เสียชีวิตสภาวะสมองตายแล้วเท่านั้น

ทำให้มีผู้ป่วยรอปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าจำนวนอวัยวะที่จะได้นำมาปลูกถ่าย จนผู้ป่วยต้องรอรับการรักษานาน มีบางรายเสียชีวิตระหว่างรออวัยวะก่อนมีการปลูกถ่ายด้วยซ้ำ...

ที่มีปัจจัยประกอบกับ ข้อจำกัด...ในเรื่องปัญหา “ขาดความเข้าใจถูกต้อง” เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะนี้ ทั้ง “วงการแพทย์” ในการประสานระหว่างสถาบันที่มีการบริจาคอวัยวะ...

อีกทั้ง “สาธารณชนทั่วไป” ก็มองในเรื่องการ “ทอดทิ้ง”...มีความเชื่อว่า...ถ้าให้อวัยวะไปแล้วในชาตินี้...เกิดมาชาติหน้า...จะมีอวัยวะไม่ครบ

ในอุปสรรคปัญหาการปลูกถ่ายอวัยวะนี้ รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รอง ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย บอกว่า การรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ...มีการบริจาคอวัยวะ ในประเทศไทยเกิดการบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตายน้อยมาก เพราะมีอุปสรรคมากมาย คือ...

หนึ่ง...“ญาติผู้ป่วย” ไม่ยินยอม ปฏิเสธการให้ผู้ป่วยบริจาค เพราะมีความเชื่อว่า...หากบริจาคอวัยวะไปแล้ว กลัวชาติหน้ามีอวัยวะไม่ครบตอนเกิดใหม่ หรือกลัวผู้ป่วยเจ็บปวดทรมาน รู้สึกสงสาร ที่ต้องการให้ไปอย่างสบาย สงบ เพราะญาติยังทำใจไม่ได้ สอง...มีจำกัดข้อห้าม ในเรื่องอวัยวะไม่สมบูรณ์ หรือโรคติดต่อของผู้บริจาค

...

และสาม...ความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรในโรงพยาบาล ไม่สนใจในการวินิจฉัยผู้ป่วยสมองตาย ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ประสบอุบัติเหตุ มีลักษณะคนไข้สิ้นหวัง หรือรักษาอย่างไรก็ไม่มีโอกาสดีขึ้น ซึ่งแพทย์เจ้าของไข้ ต้องตรวจวินิจฉัยสภาวะสมองตาย แจ้งเรื่องแก่ญาติ ในการเจรจาขอรับบริจาคอวัยวะ

การวินิจฉัยต้องตรวจผู้ป่วย 2 ครั้ง ด้วยการกระทําของแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน แต่กระบวนการนี้กลับขาดหายไป เพราะแพทย์เกรงเป็นการรบกวนญาติ หรือมัวแต่ดูแลรักษาผู้ป่วยคนอื่นที่มีความหวังรอดชีวิต จนลืมสนใจในเรื่องขอบริจาคอวัยวะไป ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีความประสงค์บริจาคอวัยวะ กลับถูกปล่อยทิ้งไป ไม่ได้บริจาค

ผลตามมา...ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาสำคัญ อาทิ อุณหภูมิของร่างกายต่ำ ความดันเลือดต่ำ มีผลต่อการทํางานของหัวใจหยุดภายใน 3 วัน แม้ให้ยากระตุ้นก็ช่วยไม่ได้ ที่เป็นปัจจัยอาจทำให้อวัยวะติดเชื้อขึ้นได้ จนไม่สามารถประคับประคองจัดเก็บรักษาให้มีความสมบูรณ์ตามที่บริจาคไปใช้ได้

ต้องขอย้ำอีกว่า...“ผู้ป่วยสมองตาย” มีความหมายคือ “หัวใจยังเต้นอยู่” ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้อวัยวะยังคงมีความสมบูรณ์ หากมีการผ่าตัดอวัยวะออกจากร่างกายผู้บริจาค นั่นหมายความว่า... อวัยวะส่วนนั้นก็จะเริ่มมีการขาดเลือดหล่อเลี้ยงทันที

ยกตัวอย่าง...ผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสอยู่ในสภาวะสมองตาย แต่หัวใจยังเต้น ถูกส่งตัวมารักษาตามโรงพยาบาล และไม่สามารถรักษาต่อไปได้อีกแล้ว แต่ไม่ใช่กรณีการเสียชีวิตที่เกิดเหตุ เพราะอวัยวะล้มเหลวเฉียบพลัน ทำให้เลือดแข็งตัวภายในอวัยวะ มีผลเกิดการติดเชื้อนำไปใช้ไม่ได้

จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัด...ซึ่งหมายความว่า...ระบบการทำงานของหัวใจจะหยุดเต้นลงตอนนี้ และทีมผู้ผ่าตัดจะมีการ “ถนอมอวัยวะ” ด้วยการ “ไล่เลือด” ไม่ให้ตกค้างออกหมด ป้องกันการแข็งตัวอยู่ภายในอวัยวะนั้น และใช้น้ำยาถนอมเข้าไปทดแทน

มีการลดอุณหภูมิ 4 องศาฯ เพื่อป้องกันของเสียจากอวัยวะที่จะออกมาทำลายเซลล์ให้น้อยที่สุด ในระยะเวลาจัดเก็บอวัยวะปลูกถ่าย ให้ผู้รอรับอวัยวะใหม่ ก็มีความแตกต่างกัน เช่น อวัยวะหัวใจ สามารถอยู่ได้นานที่สุดไม่เกิน 4 ชม. อวัยวะไตอยู่ได้นานที่สุดไม่เกิน 24 ชม. อวัยวะตับอยู่ได้นานที่สุดไม่เกิน 12 ชม.

ทำให้การเคลื่อนย้ายอวัยวะต้องแข่งกับเวลาเร่งด่วน เพราะมีเวลาดำเนินการเพียง 4 ชม. นับตั้งแต่อวัยวะหัวใจหยุดทำงาน จนเริ่มทำงานใหม่ หากจำเป็นจริงการเคลื่อนย้ายต้องใช้เครื่องบินส่วนตัวเท่านั้น ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่มีการเบิกจ่ายได้ตามสิทธิในกองทุนใด...กองทุนหนึ่งของภาครัฐ...ที่จะไม่เรียกเก็บจากผู้รอรับอวัยวะ

ทว่า...ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการลดเวลา...ลดโอกาสเกิดความเสียหาย ด้วยการจัดสรรตามผู้บริจาคอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด ก็มักปลูกถ่ายให้ผู้รอรับจังหวัดหรือภูมิภาคนั้น ตามลำดับคิว หรือความเร่งด่วนของผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงความเหมาะสมของกลุ่มเลือดตรงกัน

ย้อนกลับมาที่ผู้บริจาค...หลังสิ้นกระบวนการผ่าตัดนำอวัยวะไปปลูกถ่ายทั้งหมดแล้ว...แพทย์ต้องมีการตกแต่งร่างให้เหมือนปกติและมีการส่งมอบให้กับญาตินำไปประกอบพิธีทางศาสนา ในการนี้สภากาชาดไทยจะมีการอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ พร้อมกับมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติให้กับครอบครัว

“ทายาทคนหนึ่ง...คนใด จะได้สิทธิเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทย และได้รับสิทธิตามกำหนดไว้ต่างๆ ในค่ารักษาพยาบาล...” รศ.นพ.สุภนิติ์ว่า

ประเด็นมีอยู่ว่า...การผ่าตัดนำอวัยวะออกจากผู้ที่เสียชีวิตจากสมองตายจะกระทำได้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาเรื่องความยินยอม แม้ผู้ตายจะมีการแสดงเจตจำนงให้ความยินยอมไว้ล่วงหน้าก่อนตาย ที่ยังเป็นปัญหาหนึ่งทำให้ “ขาดแคลนอวัยวะปลูกถ่าย” มีผลให้อวัยวะได้รับบริจาคน้อยมาก จนไม่พอเพียงกับผู้ป่วยที่รอรับบริจาค...

ต่างจากต่างประเทศ...หากวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยหมดทางรักษาสามารถยุติการรักษาได้ และดำเนินการผ่าตัดผู้บริจาคนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้ผู้รอรับได้เลย แต่ประเทศไทยจะหยุดการรักษาแบบนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่อนุญาตกระทำได้ เพราะยังคงคำนึงถึงความรู้สึกของญาติผู้ป่วยเป็นหลัก

ที่ผ่านมา สภากาชาดไทยมีความพยายามรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไป กรณีผู้ป่วยอยู่ในสภาวะสมองตาย...ที่หายใจด้วยตัวเองไม่ได้ ที่เรียกว่า “หมดลมหายใจ” ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้หัวใจเต้นอยู่ ทำให้สังคมเริ่มเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น มีผลให้การบริจาคอวัยวะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย...

ปัจจุบันมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมากมายถึงล้านกว่าคน ทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชนหลากหลายทุกอาชีพ และเคยมีผู้ปกครองมาทักท้วงถึงอายุความเหมาะสม ในช่วงหลังมานี้ไม่ค่อยรับบริจาคผู้แสดงความจำนงอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่หากเป็นผู้เสียชีวิตจากสมองตายสามารถบริจาคได้ทุกเพศ...ทุกวัยทั้งหมด

สำหรับขั้นตอน...แสดงความจำนงบริจาคก็ไม่ยุ่งยาก เจ้าหน้าที่จะมีเพียงชี้แจงในเรื่องไม่รับบุคคลมีโรคประจำตัว มีโรคติดต่อเท่านั้น ไม่มีตรวจร่างกาย เพราะก่อนผ่าตัดนำอวัยวะผู้บริจาคไปปลูกถ่ายให้ผู้รอรับ ก็ต้องตรวจหาสิ่งต้องห้ามซ้ำอีกอยู่แล้ว

ตอนนี้มีการสร้างแอปพลิเคชันผ่านระบบโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน คือ “แอปบริจาคอวัยวะ” ให้สามารถบริจาคอวัยวะได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้อง เดินทางไปสภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลให้ยุ่งยาก ซึ่งเป็นช่องทางให้ผู้มีใจเป็นกุศลแสดงความจำนงบริจาคเพิ่มขึ้นอีกทาง

อย่างไรก็ดีตามที่พบผู้แสดงความจำนงบริจาคนั้น...ส่วนใหญ่เป็นคนมีจิตใจอันเป็นกุศลอยู่แล้ว บางคนหลังถือบัตรนี้แล้ว เคยดื่มสุรา สูบบุหรี่ ก็หยุดก็มี เพราะเกรงว่าอวัยวะบริจาคจะใช้ไม่ได้ และไม่เคยออกกำลังกาย ก็หันมาออกกำลังกาย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

ในทางพระพุทธศาสนา...สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยกล่าวไว้ว่า...การบริจาคอวัยวะ ถือว่าเป็นการประทานบารมีชั้นสูงสุด ที่มากกว่าการบริจาคทรัพย์สิน เงินทอง ซึ่งเป็นการประทานชั้นต่ำสุด ทำให้ในทุกศาสนาก็มีการสนับสนุนของการบริจาคอวัยวะนี้เช่นกัน

การบริจาคอวัยวะ...หนึ่งคนให้...หลายคนรับ ที่เริ่มต้นจากการให้ชีวิตใหม่ นับว่าเป็นบุญกุศลสูงสุดแล้ว...