นับตั้งแต่ปี 2550 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ขยายสิทธิประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญเสื่อมสภาพระยะสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นหัวใจ ตับ ไต ปอด ทำให้มีคนรอคอยปลูกถ่ายอวัยวะเพิ่มขึ้นทุกวัน
ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้ต่างมีความหวังที่จะได้รับผ่าตัดช่วยคืนชีวิตใหม่ให้ยืนยาว มีคุณภาพชีวิตสมบูรณ์ใกล้เคียงเหมือนคนปกติ ไม่ต้องเป็นภาระแก่ครอบครัว แต่ทว่ากระบวนการ “ปลูกถ่ายอวัยวะ” กลับมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเพิ่มการปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยตามที่ต้องการได้...
จากปัจจัยสำคัญ...ในจำนวนสัดส่วนของผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยวะและผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต มีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งมีผู้ป่วยลงทะเบียนรอรับการบริจาคอวัยวะกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยที่สูงถึง 6,401 ราย และได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะราว 585 รายต่อปี
สาเหตุเพราะการรับบริจาคทำได้เฉพาะผู้บริจาคอวัยวะอยู่ในภาวะสมองตาย เท่านั้น...ทางการแพทย์หมายถึง “ผู้ป่วยเสียชีวิต” จากแกนสมองถูกทําลาย สิ้นสุดการทํางานสิ้นเชิงตลอดไป ในระยะแรกหัวใจยังทํางานโดยอัตโนมัติ และระบบไหลเวียนเลือดทํางานได้ และอวัยวะในร่างกายได้รับเลือดเลี้ยงตามปกติ
การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสรีรวิทยาของผู้ป่วยสมองตาย จะทําให้หัวใจหยุดเต้นในไม่ช้า ร้อยละ 50 ภายใน 24 ชั่วโมง ร้อยละ 80 ภายใน 72 ชั่วโมง และเกือบร้อยละ 100 ใน 5 วัน
ในช่วงเวลานี้ต้องเร่งดําเนินการรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ที่ต้องทําโดยเร็วในเวลาจํากัดไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง นับจากเกิดสภาวะสมองตาย มิฉะนั้นอาจได้อวัยวะไม่สมบูรณ์เพียงพอนําไปปลูกถ่ายต่อไปได้
...

สำหรับอวัยวะนำมาปลูกถ่ายทดแทนได้นั้น รศ.นพ.สุภนิติ์ นิวาตวงศ์ รอง ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้แสดงความจํานงบริจาคอวัยวะ 1,041,341 คน แต่มีบางส่วนเสียชีวิตอย่างอื่นที่ไม่ใช่เกิดจากสมองตาย เช่น เสียชีวิตจากโรค หรือการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถนำอวัยวะไปใช้ปลูกถ่ายได้
แต่ความหมาย “สมองตาย”...หมายถึง “แกนสมองตาย” ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยบาดเจ็บศีรษะ เกิดจากอุบัติเหตุ หรือเลือดออกในสมอง...ในช่วง 10 ปีมานี้ ได้รับบริจาคอวัยวะของผู้เสียชีวิตสมองตายนี้จากโรงพยาบาลทั้งในสังกัดของรัฐและเอกชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นตลอด
สิ่งที่น่าสนใจ...คือ การได้มาของอวัยวะนำไปปลูกถ่ายให้บุคคลอื่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อจำกัด ข้อกฎหมาย และญาติผู้ป่วยที่อยู่ในสภาวะสมองตาย ไม่เข้าใจถึงความประสงค์ของผู้ถือบัตรบริจาค กลายเป็นว่าเกิดความไม่ยินยอมอนุญาตนำอวัยวะไปใช้ปลูกถ่าย ทำให้ไม่ได้รับอวัยวะจากผู้ถือบัตรบริจาคนี้
ประเด็นนี้มีความต่างจากในต่างประเทศ หากมีสมาชิกของครอบครัว มีความประสงค์ลงทะเบียนแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไปแล้ว เมื่อเกิดสภาวะสมองตายขึ้น สมาชิกในครอบครัวคนอื่นมักเคารพการตัดสินใจ และยอมรับในความต้องการ ส่งผลให้ได้มาของอวัยวะจากการบริจาคง่ายขึ้น
ทำให้ปี 2561 มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย 261 คน ลดลงจากปี 2560 จํานวน 33 ราย คิดเป็นร้อยละ 11.2 อายุน้อยที่สุดคือ 3 ปี ได้บริจาคไต และผู้บริจาคที่มีอายุมากที่สุดคือ 67 ปี หากเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศ ถือว่ายังมีผู้บริจาคอวัยวะ 3.9 คนต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี หรือ 3.9 pmp
หากย้อนหลัง 5 ปีมานี้ มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย 1,169 ราย หรือเฉลี่ยปีละไม่เกิน 300 ราย จากตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ 114 แห่ง ที่ได้รับบริจาคมากที่สุด คือ โรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 557 ราย หรือร้อยละ 48 รองลงมาในเขตภาคกลาง 208 ราย หรือร้อยละ 18 และในเขตกรุงเทพฯ 164 ราย หรือร้อยละ 14
ส่วนใหญ่มีการเสียชีวิตสมองตายมากที่สุด คือ อุบัติเหตุ คิดเป็นร้อยละ 66 ทั้งจากการจราจร เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ อุบัติเหตุจากการถูกทำร้ายร่างกาย ฆ่าตัวตาย ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตตามธรรมชาติส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง
ที่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 35-49 ปี เป็นกลุ่มผู้มีหมู่เลือดโอ ร้อยละ 41 หมู่เลือดบี ร้อยละ 33 หมู่เลือดเอ ร้อยละ 19 และหมู่เลือดเอบี ร้อยละ 7
ประเด็นมีอยู่ว่า...ในปี 2561 นี้ มีผู้รอรับอวัยวะ 6,401 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 550 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้รอรับการปลูกถ่ายไต และได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้ว 585 คน จากผู้บริจาคอวัยวะ 261 ราย หรือผู้บริจาค 1 ราย บริจาคอวัยวะได้ 2.2 อวัยวะ
ซึ่งมีการปลูกถ่ายไต 473 ราย การปลูกถ่ายตับ 78 ราย การปลูกถ่ายหัวใจ 26 ราย การปลูกถ่ายตับ-ไต 4 ราย และการปลูกถ่ายตับอ่อน-ไต 4 ราย ส่วนการจัดเก็บเนื้อเยื่อ ซึ่งได้รับเนื้อเยื่อจากผู้บริจาคทั้งสิ้น 755 ชิ้น เป็นผิวหนัง 390 ขวด ดวงตา 322 ดวง ลิ้นหัวใจ 42 ลิ้น และกระดูก 1 ราย
ทว่า...ตามปกติในหนึ่งร่างผู้บริจาค สามารถนำอวัยวะ คือ ไต 2 ข้าง ตับ หัวใจ ปอด ดวงตา 2 ข้าง และอาจมีการปลูกถ่ายกระดูกหรือผิวหนังเพิ่มอีก ซึ่งนำไปปลูกถ่ายช่วยเหลือชีวิตคนรอรับได้ประมาณ 8-9 ชีวิต

ความจริงแล้ว...ไม่สามารถได้อวัยวะมากขนาดนั้น อาจมีหลายสาเหตุ เช่น...อายุผู้บริจาคสูงมาก ทำให้หัวใจใช้ไม่ได้ หรือบางรายมีติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ทำให้อวัยวะของผู้บริจาคไม่สามารถใช้ได้ครบทั้งหมดนั่นหมายความว่า...ในหนึ่งร่างของผู้บริจาค สามารถนำอวัยวะมาใช้ช่วยคนอื่นได้ 2 ชีวิตกว่าๆเท่านั้น
ฉะนั้นหากคำนวณถึงมีผู้บริจาค 300 คนต่อปี จะสามารถได้อวัยวะนำไปปลูกถ่ายให้กับคนอื่นประมาณ 400-500 รายต่อปี แต่มีผู้ป่วยรอการปลูกถ่ายราว 6,000 คน และมีตัวเลขผู้ป่วยรอปลูกถ่ายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรนัก...
ดังนั้น ในการรอการปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละคนนั้น ก็มีเวลาได้รับอวัยวะแตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่าง...หัวใจ...มีระยะเวลารอเฉลี่ย 107 วัน ตับ...ระยะรอเฉลี่ย 214 วัน ไต...ระยะรอเฉลี่ย 945 วัน และมีผู้รอปลูกถ่ายตับพร้อมไต...ระยะรอเฉลี่ย 371 วัน ผู้รอปลูกถ่ายตับอ่อนพร้อมไต ...ระยะรอเฉลี่ย 447 วัน
อีกมุม...ก็มีผู้ป่วยไม่ได้รอปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตสมองตายเพียงเท่านั้น แต่ยังได้อวัยวะของการบริจาคจากญาติด้วย เช่น ญาติพี่น้องบริจาคไต 1 ข้าง หรือพ่อแม่บริจาคตับให้กับลูก เป็นต้น ในส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 40 และได้รับอวัยวะจากผู้บริจาคสมองตาย ร้อยละ 60 ที่สามารถบรรเทาให้คนรอปลูกถ่ายอวัยวะระดับหนึ่งได้
แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์ตัวเลข ผู้รอรับบริจาคปลูกถ่ายอวัยวะลดลงได้ ทำให้มีบางส่วนทนรอไม่ไหว “ต้องเสียชีวิต” เพราะไม่ได้รับอวัยวะมาปลูกถ่ายได้ทันเวลา
“ปี 2561 มีผู้รอปลูกถ่ายอวัยวะรายใหม่ 1,586 ราย หรือร้อยละ 25 และสิ้นปีมีผู้เสียชีวิตระหว่างรออวัยวะ 180 คน หรือ 3 คนต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะผู้รอไตเสียชีวิต 138 คน ผู้รอรับตับเสียชีวิต 32 คน ผู้รอหัวใจเสียชีวิต 6 คน ผู้รอหัวใจ-ปอดเสียชีวิต 3 คน และผู้รอตับและไตเสียชีวิต 1 ราย” รศ.นพ.สุภนิติ์ว่า
ปัจจุบันมีการพิจารณาปลูกถ่ายอวัยวะ...จัดสรรแบ่งเขตตามภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะข้อจำกัดการเดินทางของทีมแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และเกี่ยวกับระยะเวลาการขาดเลือดอวัยวะไม่ให้นานมากเกินไป
ทำให้ต้องคำนึงถึงเรื่องอวัยวะรับบริจาคภาคใด...ก็ควรให้ผู้รอรับบริจาคภาคนั้น...
เพราะมีปัจจัยสำคัญที่สุดคือ การได้มาซึ่งอวัยวะบริจาคจากผู้เสียชีวิตสมองตาย มีข้อจำกัดมากมาย ที่เกิดจากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ
การบริจาคอวัยวะ ทั้งวงการแพทย์และสาธารณชนทั่วไปกลายเป็นเรื่องเสียโอกาสของคนป่วย ที่ต่างรอความหวังต่อลมหายใจจะได้รับเจตนารมณ์สุดท้ายของ “ผู้บริจาค” ที่ต้อง “การให้” อีกหนึ่งคน เริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด...