สราวุธ เลขาฯ ศาลยุติธรรม เผย อาการผู้พิพากษา "คณากร" ปลอดภัยแล้ว ยังไม่ถามข้อเท็จจริงต้องรอสภาพพร้อม ย้ำ ศาลยุติธรรมพิพากษาคดีด้วยความอิสระ มีเกณฑ์ระเบียบการให้ความเห็นในคดีเขียนไว้ชัดใครก็ไม่สามารถแทรกแซงได้

จากกรณีนาย คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในศาลจังหวัดยะลา ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ต.ค.62 นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการศาลยุติธรรม ซึ่งได้เดินทางมาเยี่ยมอาการ นายคณากร ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา พร้อมเปิดเผยว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรม มาเยี่ยมท่านผู้พิพากษา อาการปลอดภัยดีแล้ว อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ทั้งนี้ ขอเรียนว่า ศาลยุติธรรมทำหน้าที่ด้วยความเป็นธรรมอิสระ ทุกศาลในประเทศไทยอยู่ภายใต้การดูแลของประธานศาลฎีกา ให้คำแนะนำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สำหรับกรณีนายคณากร ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี สำนักงานศาลยุติธรรม จะตรวจสอบข้อเท็จจริง สาเหตุของปัญหา และแนวทางแก้ไขต่อไป ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมหรือ ก.ต. ในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) ตนจะรายงานปัญหาที่เกิดขึ้นต่อที่ประชุม

"ส่วนอาการของผู้พิพากษา คณากร ดีขึ้น อยู่ในขั้นปลอดภัยแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแจ้งว่า ได้ย้ายจากห้องไอซียู มาที่ห้องพิเศษ แต่ไม่ทราบจะพักรักษานานเท่าไร"

โดยในวันนี้ ตนไม่ได้พูดรายละเอียดเรื่องข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น วันนี้เพียงต้องการมาเยี่ยมให้กำลังใจท่านให้ปลอดภัย ไม่ได้สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเข้าใจสภาพท่านไม่พร้อมที่จะพูดเรื่องที่เกิดขึ้น

...

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการวิจารณ์การแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม นายสราวุธ กล่าวว่า เราเสียใจสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรียนพี่น้องประชาชนให้มั่นใจ เราเคารพรูปแบบของการพิพากษาของคณะผู้พิพากษา เรื่องการแทรกแซงเราระมัดระวังไม่ให้เกิดอยู่แล้ว และการทำงานของผู้พิพากษา เขียนไว้ในกฎหมาย

นอกจากพระธรรมนูญ วิธีพิจารณาความอาญา ก็มีชัดเจนในมาตรา 183 กรณีถ้าผู้พิพากษามีความเห็นต่างกัน สามารถทำความเห็นแย้งได้ ซึ่งการทำความเห็นแย้งต้องทำเป็นหนังสือ และในมาตรา 184 คดีอาญา ผู้พิพากษาสามารถปรึกษาหารือกัน

ถ้ามีความเห็นต่างกันในคดีอาญา คนที่เห็นเป็นผลร้ายกับจำเลยมากกว่า ต้องยอมตามความเห็นของผู้พิพากษาที่เห็นเป็นผลร้ายน้อยกว่า เช่น ถ้ายกฟ้องมากกว่าลงโทษ ต้องเห็นชอบยกฟ้อง จึงเห็นชัดว่าการพิจารณาความคดีอาญา หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดชัดเจน ประชาชนต้องได้รับความยุติธรรม

ขณะเดียวกัน มั่นใจได้ว่า ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ ปราศจากการแทรกแซง นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า คดีที่เกิดขึ้นใน 4จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดีเกี่ยวกับความมั่นคงก็ดี มีสัดส่วนของคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษกับยกฟ้อง ไม่ได้ลงโทษ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งยกฟ้อง

นอกจากนี้ เราก็ไม่ได้มีปัญหากับฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารต้องไปทบทวนว่ารูปแบบในการรวบรวมพยานหลักฐานมีจุดบอดตรงไหนบ้าง ศาลมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน มีคดีที่เข้าสู่ศาลได้รับความคุ้มครองจากองค์คณะผู้พิพากษา

"ผมข้อย้ำว่าศาลมีความเป็นกลางและมีความเป็นอิสระที่แท้จริง" นายสราวุธ กล่าวย้ำ

เมื่อถามต่อว่า กรณีมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบคดีย้อนหลังในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสราวุธ กล่าวว่า เราดูข้อมูลทั้งหมด คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีระบบตรวจสอบตลอดเวลา ท่านทราบไหม ปัจจุบันศาลยุติธรรมมีการพิจารณาคดีทั่วประเทศกว่าสองล้านคดี คดีจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง นโยบายประธานศาลฎีกา ให้พิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ในศาลฎีกา ไม่เกิน 1 ปี ศาลชั้นต้นไม่เกิน 6 เดือน การทำงานของศาลให้เกิดประสิทธิภาพ รอบคอบ รวดเร็วด้วย

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีนี้มีการพาดพิงไปยังอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ท่านได้สอบถามข้อเท็จจริงแล้วหรือไม่ นายสราวุธ กล่าวว่า ได้สอบถามข้อมูลจากทุกฝ่าย สำนักงานศาลได้ฟังข้อมูลทุกรูปแบบ

ส่วน การพกอาวุธปืน และไลฟ์สดจะตรวจสอบวินัยหรือไม่ นายสราวุธ เปิดเผยว่าสำนักงานศาลจะรวบรวมข้อมูลรายงานต่อ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมพิจารณาในวันพรุ่งนี้ พร้อมยืนยันจะทำงานอย่างโปร่งใส