ประเทศ “สหรัฐอเมริกา” กับประเทศ “แคนาดา” เปิดให้นำ “กัญชา” เป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์ต่างๆใช้ทั้งด้านการแพทย์และนันทนาการด้วย ซึ่งในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะ...“เสรี” แต่ก็ยังต้องมีการจัดโซนนิ่ง เพื่อกำหนดพื้นที่ในการเสพเหมือนโรงฝิ่นของบ้านเราในสมัยก่อน

“ประเทศไทย” เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งในต่างประเทศมีองค์กรกลางในการกำกับดูแลการใช้กัญชาตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด

ดังนั้น...ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยเราก็ควรจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแล ซึ่งในเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รับทราบแล้ว และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ “มุมมองใหม่ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการใช้กัญชาและพืชกระท่อมทางการแพทย์” ผ่านกองบรรณาธิการวารสาร “จุลนิติ”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

...

ภายหลังจากมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำ กัญชา และ พืชกระท่อม ไปทำการศึกษาวิจัย...พัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์...สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรค

ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้นั้น เป็นเรื่องที่สังคมไทยรับรู้รับทราบมาตั้งแต่ปี 2561 แล้วว่าจะมีการเปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ คือประเทศไทยเรามีความพร้อมด้านการปลูกกัญชาอยู่แล้ว เพียงแต่องค์การสหประชาชาติ (UN) มีข้อกำหนดเรื่ององค์กรกลางในการกำกับดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ ย้ำว่า ในกรณีที่มีการเพาะปลูกกัญชา หน่วยงานของรัฐจะต้องจัดตั้งองค์กรกลาง หรือหน่วยงานกัญชาแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแลเขตพื้นที่...ที่ดินที่จะปลูกกัญชาและจัดตั้งระบบการออกใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบ

แต่...ปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว คือประเทศไทยมีการเปิดเสรีให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ สปป.ลาว ก็ยังไม่ได้เปิดเสรีให้ใช้กัญชาเพราะยังไม่มีความพร้อมด้านการควบคุมดูแล แต่มีการนำเข้าเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเท่านั้น

ทีนี้...พอกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 กฎหมายได้เปิดเสรีให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริง...ไม่มีกัญชาในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วย นี่คือประเด็นปัญหาของประเทศไทย

“เราไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ...ไม่มีระบบการเยียวยา ผลกระทบที่เกิดขึ้น...ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคต้องไปหากัญชามาจากแหล่งที่ไม่อาจเปิดเผยได้ ทำให้เกิดความสับสน แยกไม่ออกระหว่างพวกธุรกิจที่ถูก...ผิดกฎหมาย พวกที่เสพเพื่อนันทนาการสนุกสนาน หรือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้”

เข้าใจง่ายๆก็คือ...แยกไม่ออกแล้วว่าใครเป็นผู้ป่วยหรือพวกแอบแฝงเป็นผู้ป่วย ปัญหาต่อมามีว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะดำเนินการปราบปรามก็ทำได้ไม่ค่อยถนัดนัก เพราะเป็นเรื่องของจริยธรรม มนุษยธรรม และ...ยากที่จะแยกแยะออกได้ว่าใครเป็นใคร

ดังนั้น หากจะเปิดให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีทางการแพทย์และให้เป็น พืชทางเศรษฐกิจด้วย เราจะต้องมีระบบกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ โดยทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้จริง

และ...ต้องแยกแยะผู้ป่วยกับผู้ที่แอบแฝงเป็นผู้ป่วยให้ได้ เมื่อถึงจุดนั้นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก็จะสามารถทำได้อย่างประสบผลสำเร็จ โดยหลักแล้ว “ผู้เสพกัญชา” คือ “ผู้ป่วย”

มองว่าประเด็นสำคัญมาตรการในการกำกับดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์มีอยู่ 4 ประการ หนึ่ง...ในระยะต้น องค์กรกลางต้องแยกหน่วยงานเฉพาะ...จัดสรร กำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ สอง...ส่งเสริมให้มีการปลูกกัญชาในชุมชนเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ สาม...ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบครบวงจร

สี่...ให้กัญชาเป็น “วาระแห่งชาติ” ข้อนี้สำคัญที่สุด เราต้องให้ความรู้กับทุกภาคส่วน ข้อมูลกฎหมายและมาตรการในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่ควรรู้ ได้แก่ ประเภทของผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง, วิธีใช้...ข้อบ่งใช้, เมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันแล้วจะมีผลกระทบต่อการรักษาหรือไม่...อย่างไร

ต่อเนื่องไปถึงคำถามที่ว่า เราจะทำให้กัญชากลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น? ข้อนี้เห็นว่าทำได้แต่ต้องเป็นการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้น...ผลิตในปริมาณมาก โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้แรงงาน และทำให้ต้นทุนต่อหน่วยมีราคาถูกลง

แบ่งการปลูกกัญชาออกเป็นการปลูกเพื่อใช้ในการรักษาตนเอง และการปลูกเพื่อรักษาผู้อื่น...ถือว่ามีความสำคัญมากในการที่ประชาชนคนไทยได้ใช้สิทธิของตนในการที่จะดูแลรักษาสุขภาพและชีวิตของตน

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง...ประชาชนมีสิทธิที่จะใช้กัญชาในรูปแบบที่คุ้นเคย “เมื่อเคี้ยว...ใบกัญชาแล้วหายปวดเมื่อยก็สามารถเคี้ยวได้ หรือปวดเข่า ปวดข้อ เป็นโรครูมาตอยด์ ก็สามารถที่จะทำน้ำมันกัญชาใช้เองได้” ถือเป็นหลักการสำคัญ...รัฐเปิดโอกาสให้ดูแลรักษาตนเองได้ก็ประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขไปด้วย

พุ่งเป้าไปที่คำว่า “เสรี” ตามแนวทางของคณะกรรมการสาธารณสุขหรือคณะกรรมการกำหนดนโยบาย แนวทาง และการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ...ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่...) พ.ศ. ...แล้วนั้น

“เราไม่ได้หมายถึงการใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการหรือใช้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่หมายถึงการใช้เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งการปลูกกัญชาได้อย่างเสรีเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ เราอาจแบ่งออกได้เป็นหลายระดับด้วยกัน”

ระดับแรก...ความเสรีในการปลูกกัญชาในระดับครอบครัว เพื่อใช้รักษาได้ ระดับที่สอง...ความเสรีในการปลูกหรือสกัดกัญชาใช้ในระดับชุมชน เช่น การปลูกในสถานีอนามัย หรือ รพ.สต. หรือ...ปลูกที่วัด

ระดับที่สาม...เราจะทำอย่างไรให้มีการปลูกกัญชาได้อย่างเสรีโดยถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้มีการออกใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชาได้ เมื่อปรากฏว่า...ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร

เพราะจากการคำนวณ...โรงพยาบาลต้องใช้กัญชาเดือนละไม่ต่ำกว่า 50–60 ตัน

“กัญชา” ทางการแพทย์ต้องใช้ให้ได้เต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด...บริษัทประกันควรจะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ

“แพทย์ควรเริ่มศึกษาวิธีการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี...ให้เป็นวิจารณญาณของแพทย์แต่ละท่าน ในการวินิจฉัยว่าสมควรมีการใช้กัญชาในผู้ป่วยรายนั้นหรือไม่ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีการกำหนดชนิดของโรค”

ข้อสำคัญคือ...สิทธิบัตรทอง “30 บาทรักษาทุกโรค” หากคุ้มครองถึงการใช้กัญชา ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องปลูกกัญชาเอง...ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย แต่สามารถมาพบแพทย์ได้เลย

กัญชาเสรี...เพื่อ “ผู้ป่วย” คือเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ใช้ “กัญชา” ในทางการแพทย์.