(ภาพ) ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่.
ปัจจุบันนี้ ผ้าไหมและผ้าทอมือของไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ชาวไทยทุกเพศทุกวัยก็นิยมสวมใส่ผ้าพื้นเมืองกันมาก แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมว่ากว่าที่ลวดลายถักทออันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไทยจะเป็นที่ยอมรับในระดับสากลนั้นไม่ง่ายเลย ในอดีตผ้าทอพื้นบ้านของไทยได้แต่ทำใช้เองกันในครัวเรือน เป็นสินค้าราคาต่ำ ไม่มีตลาดรองรับ ผ้าบางประเภท เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ยังถูกมองว่าเป็นของใช้ของคนระดับล่างเสียด้วยซ้ำ
จนกระทั่งเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน มีบุคคลท่านหนึ่งพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ ด้วยความมุ่งหวังให้ชาวไทยในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนั่นคือที่มาของ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

...
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตั้งขึ้นหลังจาก พระบาทสมเด็จ พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร ทรงพบเห็นความเป็นอยู่ที่ยากจนและขาดแคลน โดยเฉพาะครอบครัวเกษตรกรที่จำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติในการประกอบอาชีพ
เมื่อปี พ.ศ.2506 ขณะเสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบว่าชาวประมงในหมู่บ้านเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไม่สามารถออกหาปลาในฤดูมรสุมได้ พระองค์ทรงเป็นกังวลต่อความลำบากของราษฎรมาก จึงมีพระราชดำริให้กลุ่มหญิงชาวบ้านเขาเต่าฝึกหัดทอผ้าฝ้ายเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริมเมื่อสามีออกเรือประมงไม่ได้

ปี พ.ศ.2513 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ จ.นครพนม สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ อ.นาหว้า และได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมที่สวยงามมารอรับเสด็จกันเป็นจำนวนมาก พระองค์รับสั่งซักถามถึงอาชีพและการทำมาหากิน จึงได้ทรงทราบว่านอกจากทำไร่ทำนาแล้ว ชาวบ้านยังปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าใช้เองในครัวเรือนด้วย พระองค์จึงเกิดแรงพระราชหฤทัยในการส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าเป็นอาชีพเสริม นับเป็นต้นกำเนิดของงานศิลปาชีพตั้งแต่นั้นมา
สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้ราชเลขานุการในพระองค์ไปชักชวนให้ราษฎรทอผ้าไหมจำหน่าย พระบาทสมเด็จพระมหา ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อคณะทำงานกลุ่มนี้ว่า “คณะราตรี” เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและมักออกเดินทางในเวลากลางคืน คล้ายดอกราตรีที่มีกลิ่นหอมในเวลากลางคืน
ในตอนแรกของการทำงาน คณะราตรีไปซื้อผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่จำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวกลับมาทูลเกล้าฯถวาย แต่ปรากฏว่าไม่ต้อง พระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะผ้าดังกล่าวมีรูปแบบและสีสันแตกต่างไปจากที่ชาวบ้านใส่มาคราวก่อน

พระองค์ทรงแนะนำคณะทำงานหลายประการว่า เมื่อไปถึงหมู่บ้านแล้ว อย่าดูแต่เพียงสิ่งสวยงาม เมื่อพบเห็น “ผ้าขี้ริ้ว” หรือ “ผ้าถูเรือน” ก็อย่ามองข้าม เพราะผ้าเก่าๆที่ไม่ได้ใช้แล้วมักมีลวดลายและความงามตามแบบโบราณ สามารถเก็บไว้เป็นตัวอย่างการทอได้ ควรไปพูดคุย ซักถามความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และขณะซักถามนั้น ต้องหมั่นสังเกตแววตาของชาวบ้านซึ่งจะบอกความทุกข์ใจได้มากกว่าคำพูด และจดบันทึกความเดือดร้อนของชาวบ้านไว้ด้วย อีกทั้งไม่ควรตัดสินชาวบ้านจากการแต่งกาย เพราะคนส่วนใหญ่มักเลือกเครื่องแต่งกายที่ดีที่สุดเมื่อต้องพบปะคนที่ไม่คุ้นเคย
คณะราตรีจึงกลับไปลงพื้นที่ในเขตพื้นที่ทางภาคอีสานอีกครั้ง ต้องใช้เวลาพักใหญ่เลยทีเดียวเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความรักและความไว้ใจจนสามารถพาขึ้นเรือนได้ จากนั้นจึงได้นำผ้าถูเรือนและผ้านุ่งผืนเก่าที่ชาวบ้านใช้แล้ว กลับมาทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ทรงทอดพระเนตรและทรงจับถือผ้าเหล่านั้นโดยมิได้รังเกียจเลย

เมื่อเสด็จฯไปทรงงานในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็จะมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดเตรียมสิ่งของพระราชทาน เช่น ยารักษาโรค เสื้อผ้า และขนมเพื่อแจกเด็กๆ โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะมีพระราชดำรัสไต่ถามหัวหน้าครอบครัวถึงสภาพพื้นที่ทำมาหากิน แหล่งน้ำและศัตรูพืช ในขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงจะทรงงานร่วมกับผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็ก โดยรับสั่งชักชวนให้ทอผ้า หรือทำงานฝีมืออื่นๆ ในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา พร้อมไต่ถามความเป็นอยู่ในครัวเรือน และทรงรับผู้ป่วยเข้าเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ด้วย
ในตอนแรกที่พระองค์ตรัสว่าจะทรงใช้ผ้าไหมมัดหมี่ ชาวบ้านหลายคนไม่เชื่อ เพราะในเวลานั้นมีแค่เพียงคนแก่ คนต่างจังหวัด และคนยากจนเท่านั้นที่ใช้ผ้าไหมมัดหมี่ พระองค์ทรงรับซื้อผ้าทั้งหมดไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และนำผ้าทอมือเหล่านั้นมาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านเพื่อให้ทอผ้าได้มากยิ่งขึ้น พระองค์ยังทรงช่วยพัฒนางานทอผ้าอื่นๆอีก เช่น ทรงให้คำแนะนำเรื่องการจับคู่สีว่าควรใช้เส้นไหมสีใดคู่กับสีใดเพื่อให้ผืนผ้าดูทันสมัยยิ่งขึ้น หรือการให้ปรับขยายฟืมทอผ้าเพื่อให้ได้หน้าผ้ากว้างขึ้น สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น ซึ่งก็จะจำหน่ายได้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่ทรงนำผ้าไหมมัดหมี่มาตัดเป็นฉลองพระองค์เพื่อทรงเองเท่านั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงยังสนับสนุนให้ข้าราชบริพารและสตรีในเมืองหลวงแต่งกายด้วยผ้าทอมือของไทย รวมถึงนำผ้าไหมมัดหมี่มาตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์ให้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตามแบบชุดไทยพระราชทานแบบผู้ชายอีกด้วย เป็นการปรับเปลี่ยนการใช้งานจากที่เคยใช้กันเฉพาะผู้หญิง กลายมาเป็นผ้าที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังทรงแนะนำผ้าไหมไทยแก่พระราชอาคันตุกะและพระสหายชาวต่างชาติให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
นอกจากการทอผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิศิลปาชีพแล้ว พระองค์ทรงสนับสนุนงานทอผ้าอื่นๆ เช่น การทอผ้าขิด จ.อุดรธานี การทอผ้าแพรวาของชาวผู้ไท จ.กาฬสินธุ์ การทอผ้าจก จ.ราชบุรี การทอผ้ายก จ.นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่การเลี้ยงแมลงทับ เดิมชาวบ้านเคยเก็บซากแมลงทับที่ตายแล้วมาถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพราะเข้าใจว่าความแวววาวนั้นเป็นของมีค่า พระองค์ไม่ได้นำซากแมลงเหล่านั้นไปทิ้ง แต่ทรงนำมาทำเป็นเข็มกลัดและปักประดับลงบนฉลองพระองค์แทน ต่อมาก็มีพระราชเสาวนีย์ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำงานวิจัยเรื่องแมลงทับเพื่ออนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ทำฟาร์มแมลงทับเพื่อนำมาทำเป็นเครื่องประดับ โดยแมลงทับที่นำมาใช้นั้นไม่ได้ถูกฆ่า แต่จะเลี้ยงจนสิ้นอายุไปเองตามธรรมชาติ เพราะจะมีสีสันที่สวยงามและคงทนกว่า

พระองค์ยังทรงสนับสนุนงานหัตถกรรมอื่นตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของดินแดนนั้นๆด้วย เช่น ทางชายแดนภาคใต้ของไทย ชาวบ้านไม่สามารถออกไปกรีดยางหรือทำประมงได้ในฤดูมรสุม พระองค์ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ครูช่างงานฝีมือไปฝึกอาชีพให้กับราษฎรเพื่อหารายได้เสริม โดยตั้งเป็นกลุ่มปักผ้าขึ้นในบริเวณพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ และทำงานหัตถกรรมอื่น เช่น สานกระจูดและย่านลิเภา ส่วนทางภาคเหนือของไทยในยุคนั้นชาวไทยภูเขานิยมปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยซึ่งเป็นการทำลายป่าต้นน้ำ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงก่อตั้งโครงการหลวงเพื่อพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้นเพื่อลดปัญหาดังกล่าว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงก็ทรงสนับสนุนให้ทำเครื่องเงิน และส่งเสริมการทอและปักผ้าตามความถนัดของแต่ละเผ่า เช่น ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยงและการปักลูกเดือยลงบนผืนผ้า
ในช่วงแรกของการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯนั้น ยังมีจำนวนสมาชิกไม่มาก พระองค์ทรงรับซื้องานหัตถกรรมทั้งหมดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในราคาที่สูงมากเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงตนเองโดยไม่ต้องละถิ่นฐานเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ และเมื่อมีสมาชิกมากขึ้น ก็มีงานหัตถกรรมมากขึ้น จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้นำออกจำหน่ายโดยตั้งราคาตามคุณภาพงาน ในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ ตามที่พระองค์มีพระราชดำรัสไว้ว่า

“...ขาดทุนของฉัน คือกำไรของประชาชน...”
กว่าจะมาเป็นผ้าทอมือที่สวยงามเช่นนี้ พระองค์ต้องทรงงานหนักและใช้พระวิริยอุตสาหะในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพียงใด ทรงเป็นทั้งนักจิตวิทยา ช่างฝีมือ นักศิลปะ นักสังคมสงเคราะห์ นักสาธารณสุข และนักการตลาด โดยมีเหตุผลเพียงแค่ต้องการให้พสกนิกรของพระองค์หลุดพ้นจากความยากจน มีอาชีพทำกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันเป็นการช่วยเหลือในระยะยาว และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ
เมื่อภารกิจบนผืนผ้าผ่านวันเวลามาถึงวันนี้ ย่อมประจักษ์ชัดแล้วว่าพระราชปณิธานของพระองค์นั้นบังเกิดผลงดงามเป็นความอยู่ดีกินดีทั่วแผ่นดินไทย สร้างรอยยิ้มเปี่ยมสุขให้กับประชาชนได้มากมายเพียงใด พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านนั้นหาที่สุดมิได้ และจะตราตรึงอยู่ในทุกดวงใจของพวกเราชาวไทยตราบนิรันดร์.
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน โดย : ปาณัสม์