สายพันธุ์แบคทีเรียแกรมลบ (gram-negative bacteria) ทำให้เกิดการติดเชื้อ อย่างโรคปอดบวม, ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นโรคที่ยากต่อการรักษา เนื่องจากผนังเซลล์ของแบคทีเรียป้องกันไม่ให้ยารักษาโรคผ่านเข้าไปข้างในเชื้อโรค มีรายงานว่าเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมีส่วนในการเสียชีวิตของประชากรในยุโรป 25,000 ราย ในแต่ละปี และประเมินว่าภายในอีก 30 กว่าปีข้างหน้าประชากรกว่า 10 ล้านคนอาจเสียชีวิตในทุกๆปี เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะนั่นเอง
ล่าสุด นักวิจัยจากภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ และห้องปฏิบัติการทดลองรัทเทอฟอร์ด แอปเปิลตัน ในอังกฤษ รายงานการพัฒนาสารประกอบตัวใหม่ที่สามารถมองเห็นและฆ่าซุปเปอร์บั๊ก (superbugs) หรือเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ เช่น เชื้ออีโคไล ทีมวิจัยเผยว่า สารประกอบยาชนิดใหม่นี้มีคุณสมบัติเรืองแสงเมื่อสัมผัสกับแสง ทำให้ติดตามดูแบคทีเรียได้ด้วยเทคนิคของกล้อง จุลทรรศน์ระดับสูงที่ห้องปฏิบัติการทดลองรัทเทอฟอร์ด แอปเปิลตัน
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยชื่อสารประกอบดังกล่าว แต่ทีมวิจัยเผยว่าสารประกอบนี้ดูจะมีหน้าที่การทำงานหลายแบบที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียต้านทานได้ยาก การค้นพบครั้งนี้อาจนำไปสู่การรักษาแบบใหม่ ซึ่งขั้นตอนต่อไปของการวิจัยคือจะทดสอบกับแบคทีเรียที่ต้านทานโรคชนิดอื่นๆ.
ภาพ แบคทีเรียแกรมลบ จาก : University of Sheffield