ใกล้แล้วกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย เรามาดูในอเมริกากันหน่อยในรัฐโคโลราโดที่ให้กัญชาถูกกฎหมายเพื่อการแพทย์ตั้งแต่ปี 2009 และเปิดกว้างเพื่อความเพลิดเพลินในปี 2014

หมายความว่า ใครจะใช้ก็ได้เช่นเดียวกันกับในอัมสเตอร์ดัม ที่มีคาเฟ่กัญชากันทั่วเมืองคล้ายกับร้านกาแฟหอมๆในบ้านเรา

แน่นอนว่าพอเปิดเสรีก็มีการใช้กัญชามากขึ้น พอมีการใช้มากขึ้นก็เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น จนส่งผลให้เข้าโรงพยาบาลกันมากขึ้นอาจเพราะความไม่คุ้นกับการใช้บ้าง ส่งผลให้ตื่นตระหนกเวลารู้สึกถึงผลข้างเคียงมีประเทศที่เปิดกว้างเช่นนี้อีกหลายประเทศ เช่น แคนาดา อุรุกวัย และสเปน แต่ที่นำรัฐโคโลราโดขึ้นมาพูดเพราะล่าสุดได้ออกบทการศึกษาแบบย้อนหลัง (Retrospective study) เพื่อที่จะดูว่าหลังจากกัญชาถูกกฎหมายแล้วมีผลยังไงกับการมาใช้ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล UCHealth ขนาดเทียบๆกับโรงพยาบาลจังหวัดขนาดใหญ่ในประเทศเราและมีการรับคนไข้มาใช้บริการห้องฉุกเฉินมากกว่าหนึ่งแสนคนต่อปี ได้มีการค้นหาประวัติคนไข้ที่เข้ารับการรักษาเพราะว่าผลจากการใช้กัญชาและเปรียบเทียบการใช้ระหว่างสูบและกินระหว่างปี 2012 ถึง 2016 เป็นเวลา 5 ปีด้วยกัน พบว่ามีการเข้าใช้บริการห้องฉุกเฉินเพราะผลของกัญชาเมื่อเทียบกับก่อนจะถูกกฎหมายเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า

...

โดยมีการเปรียบเทียบระหว่างสูบและกิน พบว่า 10% ของคนที่มาโรงพยาบาลใช้วิธีกิน แต่ยอดการขายของกัญชาที่ใช้กินนั้นแค่ 0.32% ของทั้งหมดเท่านั้นเอง แปลว่าแบบกินทำคนมาห้องฉุกเฉินเยอะอยู่นะ แต่กลับกันในคนที่สูบนั้นจะถูกแอดมิตจากห้องฉุกเฉินมาก โดยมากถึง 33% เมื่อเทียบกับแบบกินที่แค่ 19% ถูกแอดมิต ที่เหลือกลับบ้านได้

นอกจากนั้น คนที่สูบกัญชาจะใช้เวลาพักฟื้นในห้องฉุกเฉินเฉลี่ย 3 ชั่วโมงมากกว่าแบบกินซึ่งใช้เวลาเฉลี่ยแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ความแตกต่างนี้มองว่ามาจากผลข้างเคียงที่มากกว่าและต่างกันของการสูบเมื่อเทียบกับแบบกิน ปัญหาฟังดูแล้วส่วนมากจะอยู่กับปัญหาทางเดินอาหารซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการแอดมิตห้องฉุกเฉิน โดยเฉพาะ อาการคลื่นไส้อาเจียนเรื้อรัง (cannabinoid hyperemesis syndrome) และผลข้างเคียงนี้มักจะเกิดขึ้นในผู้ใช้กัญชาประจำ และก็บังเอิญจะมักใช้โดยการสูบนั่นเอง คนที่มาห้องฉุกเฉิน และเป็นผลข้างเคียงนี้จึงเป็นคนที่ใช้กัญชาแบบสูบมากกว่าแบบกินถึงสองเท่า

ส่วนอาการที่เหลือพบมากกว่าในแบบกิน เช่น มึนเมา (48% vs 28%) ประสาทหลอน (18% vs 11%) หัวใจเต้นเร็ว ความดันตก (8% vs 3%) เมื่อเทียบกับสูบ อย่าเพิ่งสับสนนะ สรุปคือคนใช้กัญชาแบบกินมีโอกาสจะมาห้องฉุกเฉินเยอะกว่าเพราะผลข้างเคียงเบาๆ แต่คนที่ใช้แบบสูบที่มักจะเป็นคนใช้บ่อยมาเป็นเวลานาน พออาเจียนไม่หยุด ดื่มน้ำไม่ไหวก็จะมีโอกาสถูกแอดมิตจากห้องฉุกเฉินมากกว่า

ทำไมถึงเป็นแบบ นี้ล่ะ กัญชาเหมือนกันแต่ต่างกันแค่กินหรือสูบเองนะ นั่นก็เพราะว่าวิธีการซึมเข้าเลือดมันต่างกัน โดยแบบสูบ ระดับกัญชาในเลือดจะขึ้นสูงเร็วและสมองจะรู้สึกทันที จะได้ความรู้สึกปรี๊ดปร๊าด เพราะระดับจะขึ้นสูงสุดภายใน 15-30 นาที ซึ่งทำให้ติดงอมแงมได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับกินซึ่งกว่าจะถูกซึมซับจากลำไส้ไปยังเลือดซึ่งใช้เวลานานกว่าเยอะ ในแต่ละคนการซึมเข้าเลือดก็ต่างกันไปอีก

และไปเกี่ยวว่ากินอย่างอื่นมาก่อนรึเปล่า จึงยิ่งกะยากเพราะถ้ากินของมันๆ เช่น ขาหมู ของทอดต่างๆไปพร้อม หรือในระยะเวลาใกล้กับกินกัญชา จะทำให้กัญชาซึมเข้าไปในเลือดได้ดีกว่า ส่วนกว่าระดับในเลือดจะได้ที่ก็ 2-3 ชั่วโมง จึงทำให้คนที่อยากได้ความรู้สึกของการใช้กัญชากะไม่ถูกว่าต้องกินเท่าไหร่ ผ่านไปสักพักไม่ค่อยรู้สึกก็เลยกินเพิ่มไปอีก สุดท้ายสะสมแล้วฤทธิ์มันก็ออกมาทีเดียว เลยหนัก

หนำซ้ำการกินนั้นร่างกายจะกำจัดมันออกได้ช้ากว่าเพราะระดับมันเพิ่มช้าก็ลดช้า ยิ่งหลายคนหน้าใหม่ไม่รู้ถึงข้อนี้ กินบราวนี่ กินคุกกี้ผสมกัญชาไปไม่เมา ก็กินต่อเรื่อย สุดท้ายพอมันเยอะแล้วออกฤทธิ์ซ้อนๆกันก็มึนเมามากจึงมาจบที่โรงพยาบาล

สิ่งที่กล่าวมานี้สำคัญมากเพราะการใช้กัญชาในโลกนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับเฮฮาหรือทางการแพทย์ก็ตาม ทั้งหมอทั้งประชาชนต้องตระหนักถึงวิธีใช้และเข้าใจมันจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แพทย์เองก็ต้องศึกษาและคอยติดตามข้อมูลและวิจัยเกี่ยวกับกัญชาที่ทยอยออกมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะอย่างการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องทำให้อาเจียนเรื้อรังก็เพิ่งมีอธิบายออกมาได้เมื่อปี 2001 นี่เอง

นอกจากนั้นการตีกันกับยาแผนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น THC มันไปเพิ่มฤทธิ์วารฟารินทำให้เลือดไหลง่ายขึ้น เพราะมันถือว่าเป็นยาใหม่ของแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเฉพาะถ้าใช้กับกลุ่มคนไข้ที่มีโรคเยอะแยะ กินยาอยู่เยอะแยะ ต้องระวังเป็นพิเศษ

ฟังดูน่ากลัวเหมือนกัน ใช่แล้ว น่ากลัวถ้าไม่เข้าใจมัน แต่ในการศึกษาที่พูดถึงนี่ดู 5 ปี มีคนเข้าห้องฉุกเฉินเกือบ 10,000 คน แต่คัดออกมาร่วมในการศึกษา 2,567 คน เยอะอยู่ที่เข้าโรงพยาบาลเพราะกัญชา แต่ไม่มีใครตายเลยนะ ไม่เหมือนยาเสพติดอื่นๆ

หมอก็มีเพื่อนอยู่คนนึง วันดีคืนดีเห็นบราวนี่ใครวางอยู่ก็ตะกละ ดันอร่อยเกินอีก กินหมดเท่านั้นละสักพักมึนทำอะไรไม่ได้เลย แต่สุดท้ายก็ยังเต็มร้อยปกติดีจนถึงตอนนี้ พ่อแม่ใครอ่านก็เตือนลูกด้วยว่าอย่าซ่า เราทุกคนต้องยอมรับว่าสมัยนี้เด็กๆมันชอบลองผิดลองถูกกันเยอะ เตือนไว้ก็ไม่เสียหาย ไม่ใช่การชี้โพรงนะ...

ทางสายกลางดีที่สุด ใครแข็งแรงไม่มีโรคหัวใจหนักหนา จะลองผิดลองถูกก็ตามใจ แต่ถือว่าเตือนแล้วนะว่าเริ่มแรกน้อยที่สุด ไม่งั้นเสียเงินเข้าโรงพยาบาลเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน ด้วยความเป็นห่วงครับ.

หมอดื้อ