เมื่อวันที่ 2 พ.ค. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 19 “กัญชา เพื่อเยียวยาสุขภาพ” โดย ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯมีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาหลายชิ้น คือ

1.งานวิจัยร่วมหลายคณะของจุฬาฯ ทั้งในเรื่องการปลูกพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ให้ได้สายพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ ได้สารสกัดที่ต้องการ ซึ่งจะรวดเร็วกว่าการปลูกกัญชา การวิจัยความปลอดภัยของสารสกัด การวิจัยพัฒนาตำรับจากกัญชาที่เหมาะสม

2.งานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น โดยได้รับทุนจาก สกว.วิจัยภาพรวมกัญชาที่ยังไม่รู้ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ของประเทศ เช่น งานวิจัยโรดแม็ปกัญชา

3.งานวิจัยประเมินกฎระเบียบต่างๆที่ออกมาเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ

4.งานวิจัยร่วมกับนายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน และประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เพื่อศึกษาการใช้กัญชาของหมอพื้นบ้าน หรือแพทย์แผนไทย

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้า ระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้กัญชาในกลุ่มผู้ใช้กัญชาเขตกรุงเทพฯ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในผู้ใช้กัญชา 31 คน จำแนกเป็นผู้ใช้โรคมะเร็ง 9 ราย ลมชัก 7 ราย อื่นๆ เช่น สะเก็ด เงิน เครียด นอนไม่หลับ เป็นต้น จำนวน 6 ราย ผู้ใช้ทดแทนยาเสพติดหรือใช้ร่วม 6 ราย และไม่ระบุโรค 5 ราย ต่างคาดหวังว่าการใช้น้ำมัน กัญชาจะช่วยให้หายจากอาการป่วย

ทั้งนี้ กพย.อยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม พ.ศ. ... ฉบับประชาชน โดยจะแยกกัญชา และกระท่อมจาก พ.ร.บ.ยาเสพติด และ พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จะเป็นการบริหารพืชยาสองชนิดนี้ ตั้งแต่ปลูก เมล็ดพันธุ์ แปรรูป ผลิตภัณฑ์ และอื่นๆ โดยจะเปิดประชาพิจารณ์และขอความร่วมมือประชาชนลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้.

...