ผู้เชี่ยวชาญด้านงูของประเทศไทย แนะ 7 วิธีปฐมพยาบาลแบบถูกวิธี เมื่อถูก "งูพิษ" กัด ป้องกันการสูญเสีย

แฟนเพจเฟซบุ๊ก Nick Wildlife  โดย นิค นิรุทธ์ ชมงาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูของประเทศไทยโพสต์ข้อความระบุว่า หากโดนงูกัดควรทำอย่างไร แล้วจะมีเวลานานแค่ไหนหลังถูกกัด ก็ต้องลุกมาอธิบายเรื่องงูพิษ กับการถูกกัดอีกครั้ง หลังจากมีกระแสที่ร้อนแรงเกี่ยวกับงูเห่าที่กัดคนเสียชีวิตในกรุงเทพฯ อันดับแรกต้องแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิต 

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พอจะทราบได้ว่า คนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี เมื่อถูกงูกัด ตรงนี้สำคัญมาก เพราะหากเราทำถูกวิธีและเข้าใจหัวใจการปฐมพยาบาลว่า ให้พยายามเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด อาจจะยืดชีวิตเราได้อีกหลายชั่วโมงเลยทีเดียว ดังนั้น ลองมาดูกันถ้าถูกงูกัดต้องทำอย่างไร

1. ถ้าไม่รู้ว่างูอะไร ให้สันนิษฐานว่าเป็นงูพิษไว้ก่อน ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด

2. ต้องมีหลักฐาน ปัจจุบันมีหลายท่านบอกไม่ต้องนำงูไปแล้วก็ได้ แต่เชื่อผม ถ่ายภาพงูที่กัด ไปให้ชัดๆใกล้ๆ จะดีที่สุด เพราะมันจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แพทย์ในการรักษาได้รวดเร็วขึ้น

...

3. เคลื่อนไหวให้น้อย สิ่งที่ควรรู้คือ พิษงูทำงานสัมพันธ์กับอัตราสูบฉีดเลือดของร่างกาย ยิ่งหัวใจเต้นเร็ว พิษก็แพร่กระจายเร็ว การวิ่งไปหาหมอหลังถูกงูกัดเพื่อความรวดเร็ว จึงไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยกว่า การค่อยๆ เดินไปหาหมออย่างช้าๆ อย่างมีสติและรอบคอบ

4. รู้จักการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง มันจะช่วยยืดชีวิตเราได้หลายชั่วโมง การปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัดแบบใหม่ จึงจะเป็นการให้ความสำคัญเรื่องการลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะนั่นเอง ก็ลองศึกษากันได้ตามภาพและคลิปวิดีโอ

5. ส่วนวิธีดูดพิษ กรีดพิษ ใช้ไฟเผา รัดเหนือบาดแผล ขันชะเนาะ ก็แนะนำว่าไม่ต้องทำครับ ไม่มีประโยชน์ใดๆ

6. แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มกระตุ้นหัวใจอย่าไปทาน มันเร่งให้พิษแพร่กระจายได้เร็วขึ้น

7. แพทย์จะยังไม่ให้เซรุ่มในทันที เพราะต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยโดนงูอะไรกัด (การมีภาพถ่ายงูที่กัดจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น) ผู้ป่วยได้รับพิษไปหรือไม่ และได้รับในปริมาณเท่าใด จึงจะพิจารณาวิธีในการรักษาต่อไป

สำหรับประเด็นที่มีชายหนุ่มคนหนึ่งถูกงูกัด แต่พอถึงโรงพยาบาลกลับเสียชีวิต (ถกสนั่นโซเชียล หนุ่มถูกงูกัด คิดว่าถึงรพ.แล้วปลอดภัย แต่กลับเสียชีวิต) โดย นิรุทธ์ อธิบายว่า ประเด็นนี้ ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก เพราะเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ป่วย ก็จะอธิบายเท่าที่มีข้อมูล ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญมีดังนี้

1. งูเห่ากัดผู้ป่วยที่นิ้ว

2. ผู้ป่วยแกะงูออกแล้ว รัดดูดพิษงูออกด้วยปาก แล้วใช้เชือกรัดเหนือบาดแผล (2 วิธีที่ผู้ป่วยทำ ไม่แนะนำให้ทำเพราะแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย)

3. ผู้ป่วยใช้เวลา 15 นาทีมาถึงโรงพยาบาล พร้อมกับงูเห่าตัวที่กัด

ทั้งนี้ ญาติมีความสงสัยว่า ทำไมมาถึงโรงพยาบาลอาการก็ยังปกติมีสัญญาณชีพที่ดี คุยได้โทรศัพท์ได้ งูที่กัดก็นำไปด้วย แต่ทำไมรพ.ให้สังเกตอาการนานจน สุดท้ายอาการหนักเข้าห้อง ICU และเสียชีวิตในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความจริงในกระบวนการรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัด แพทย์ต้องรอดูอาการเพื่อแน่ใจว่างูที่กัด คืองูอะไร และผู้ป่วยได้รับพิษในปริมาณไหน อาการตอบสนองเป็นยังไง และเตรียมความพร้อมในรักษาอย่างทันท่วงที เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยแย่ลงจนโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด ก็ไม่อยากคาดเดาอะไรมาก เพราะอาจมีปัจจัยที่เราไม่คาดคิด เกิดขึ้นได้เสมอ และคิดว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นแน่นอน

ส่วนตัวเห็นว่ามาตรฐานทางการรักษา และความพร้อมของผู้ป่วย ก็คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ความพร้อมในการรักษา การตัดสินใจที่รวดเร็ว ความชำนาญในการจำแนกชนิดงูที่กัด ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการรักษาชีวิตของผู้ป่วย แทบทั้งสิ้น ก็เคารพดุลยพินิจในการรักษาครับ

สำหรับคำถามที่มีกันมาบ่อยๆ เช่น มักมีคำถามว่าหากเราถูกงูชนิดโน้น ชนิดนี้กัด เราจะมีเวลาอยู่ได้อีกกี่นาที คำตอบคือ "ตอบไม่ได้เลย ไม่ว่าชนิดไหน"  สมมติว่ามีคน 10 คนโดนงูเห่ากัดมา แต่ละคนก็จะโดนกัดในตำแหน่งที่แตกต่างกัน ปริมาณพิษที่ได้รับก็ไม่เท่ากัน

โดยการปฏิบัติตัวหลังถูกกัดก็แตกต่างกัน ดังนั้นตอบไม่ได้เลยว่า ใช้เวลาแค่ไหนถึงจะเสียชีวิต เพราะตำแหน่งที่ถูกกัด ปริมาณพิษ การปฏิบัติตัวมันส่งผลถึงระยะเวลาในการยืดชีวิต ดังนั้นหากถูกงูกัด จึงควรไปสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุดนั่นเอง แม้จะรู้เวลาการทำงานของพิษ ก็ช่วยเราไม่ได้เท่ากับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง 

(ขอบคุณข้อมูลจาก Nick Wildlife )