“พุทธคยา ดินแดนแห่งการตรัสรู้ ประตูสู่พุทธภูมิ” ที่เมืองคยา รัฐพิหาร สาธารณรัฐอินเดีย คือหนึ่งในสังเวชนียสถาน 4 ที่ชาวพุทธทั่วโลกมุ่งมั่นไว้ว่าจะต้องไปให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
เพียงแค่มีโอกาสได้ก้าวย่างเข้าสู่ พุทธคยา จะสามารถสัมผัสได้ถึงพลังอันยิ่งใหญ่ทั้งจาก ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พระพุทธองค์ทรงนั่งตรัสรู้ และพระพุทธเมตตา อายุกว่า 1,400 ปี อันงดงามยิ่ง ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในมหาเจดีย์พุทธคยา
รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆที่เกี่ยวพันกับ พระพุทธองค์ อีกมากมายอาทิ แม่น้ำเนรัญชรา มหานทีที่ พระมหาบุรุษ เสี่ยงทายด้วยการลอยถาดทองคำใส่ข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ ที่ นางสุชาดา นำมาถวาย และถาดทองคำได้ลอยทวนกระแสน้ำนำพา พระมหาบุรุษ ไปตรัสรู้ที่ใต้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์อันเป็นสหชาติ

...

นอกจากนี้ยังมี บ้านนางสุชาดา, ถ้ำบนภูเขาดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยา ก่อน พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
อย่างไรก็ตามบนแผ่นดินพุทธภูมินั้น มีความสำคัญยิ่งทั้ง 4 สังเวชนียสถาน สถานที่ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และ ปรินิพพาน ที่ชาวพุทธพากันเดินทางรอนแรมไปเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมคำสอนของ “พระพุทธเจ้า” บรมศาสดาเอกของโลก และเข้าเฝ้าให้ถึงซึ่งแผ่นดินของ พระพุทธองค์
เพื่อกราบสักการะ “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ประทานคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถสัมผัสได้ ให้ไว้กับชาวพุทธนำไปปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความเป็นมงคลแห่งชีวิตและความผาสุกแก่ชาวโลก

การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในทุกสังเวชนียสถานมีขึ้นตลอดทั้งปี นอกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ชาวพุทธส่วนใหญ่ทั้งอุบาสก อุบาสิกาจะพากันหาโอกาสเดินตามรอยบาทของพระศาสดาด้วยการอุปสมบท ภายใต้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้ ภายใน มหาเจดีย์พุทธคยาเมืองคยา
ผมจำได้ว่าการบวชเป็นหมู่คณะรุ่นแรกๆมี นายสุภชัย วีระภุชงค์หรือ “เสี่ยอ๊อด ทิฟฟี่” ซึ่งปัจจุบันเป็น เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมบวชด้วย มาถึงวันนี้มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนจัดนำคณะในองค์กรไปบวชกันในโอกาสต่างๆแบบไม่ขาดสาย


การสร้างพลังแห่งศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่หมู่มวลชาวพุทธไทยที่ผ่านมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องยกให้ คณะพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย–เนปาล ที่มี พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา อินเดียเป็นหัวหน้า ทำงานกันแบบไม่รู้จักคำว่า “เหนื่อย” ทุ่มเทกันเต็มที่ ถวายทุกหยาดเหงื่อเพื่อ พระพุทธองค์ โดยแท้
ล่าสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ได้จัดโครงการอุปสมบทและบวชเนกขัมมะ–ศีลจาริณี เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 67 พรรษา28กรกฎาคม 2562 ระหว่างวันที่ 14-23 มกราคม 2562 มีนายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
นับเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากหลักการและเหตุผลอันเปี่ยมล้นไปด้วยความจงรักภักดีของ ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ที่จะได้มีโอกาสร่วมแสดงความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามทางพุทธศาสนา

รวมถึงยังเป็นโครงการที่มีความเป็นมงคลยิ่งนักทั้งต่อ พระพุทธศาสนา ต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อองค์กรเจ้าของโครงการการบรรพชาและอุปสมบทครั้งนี้มี นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ และ นายสุรพันธุ์ละอองมณี2 รองประธานศาลฎีกา นายโสฬส สุวรรณเนตร์ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองศาลฎีกา นายนพพร โพธิรังสิยากร ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศศาลฎีกา นำคณะเข้าร่วมอนุโมทนาและร่วมปฏิบัติธรรม
พิธีบรรพชาอุปสมบทมี พระธรรมโพธิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาและหัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมี พระเมธีวรญาณ (สายเพชร วชิรวาที ป.ธ.9, ดร.) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี ร่วมในพิธี และมี พระครูอุดมโพธิวิเทศ (ณรงค์) หัวหน้าฝ่ายกองงานกิจการพิเศษวัดไทยพุทธคยา เป็นผู้ดำเนินพิธีการ

สำหรับ ผู้เข้าร่วมอุปสมบท 69 คน เป็น ผู้พิพากษา 41 คนข้าราชการศาล 8 คน ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่น 67 กับรุ่น 69 อีก 20 คน ส่วน การบวชเนกขัมมะ-ศีลจาริณี 74 คนนั้น เป็น ผู้พิพากษาหญิง 47 คน ข้าราชการศาลยุติธรรมหญิง 9 คน ผู้ช่วยผู้พิพากษาหญิง รุ่น 67 กับรุ่น 69 อีก 19 คน
ที่สำคัญและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งในการบวชครั้งนี้เพราะมีผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ร่วมบวชด้วย อาทิ นายพิสุทธิ์ ศรีขจร อธิบดีผู้พิพากษาล้มละลายกลาง นายสมศักดิ์ ขวัญแก้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาล ภาค 8
ผู้พิพากษาหญิง ที่บวชเนกขัมมะศีลจาริณี อาทิ นางเมทินี ชโลธรประธานแผนกคดีผู้บริโภคศาลฎีกา น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลอุทธรณ์ภาค1นางวาสนา หงส์เจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาคุณหญิงบังอร เขมะจารุ ผอ.ศาลแขวงนนทบุรี


ช่วงระหว่างเวลานี้ พระนวกะโพธิ ทั้ง 69 รูป และ ผู้บวชเนกขัมมะ-ศีลจาริณี 75 ท่าน กำลังอยู่ในช่วงของการปฏิบัติธรรมและออกแสวงบุญไปยังทุกสังเวชนียสถานทั้งในประเทศอินเดียและประเทศเนปาล
การได้ไปปฏิบัติธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ก็ว่ามีความสุขโข สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แต่การได้ไปบวชที่ใต้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ พระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้ด้วย เป็นความสุขที่จะตราตรึงอยู่ในจิตใจมาก
เข้าไปอีกแน่นอน
ขณะเดียวกัน การสมัครใจเข้าร่วมโครงการด้วยการบวช การปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดของคณะจาก สำนักงานศาลยุติธรรม ครั้งนี้ ถือเป็นต้นแบบที่งดงามสุดจะบรรยาย
แถมยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจไปยังอนุชนคนรุ่นหลัง รวมไปถึงชาวพุทธทั้งหลายทั้งมวล ให้หันกลับมาร่วมกันจรรโลง พระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับโลกกลมๆใบนี้ตราบนานเท่านาน


การปฏิบัติตนเป็นต้นแบบอันงามเลิศครั้งนี้ จะทำให้คำสอนอันทรงคุณค่าของ พระพุทธองค์ นำไปสู่การปฏิบัติ ที่จะส่งผลความสงบสุขจากการมีสติไปยังชาวโลก
ความชุลมุนวุ่นวายสับสนของชีวิตและสังคม แก้ได้ด้วยการปฏิบัติธรรม แก้ได้ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ จึงขออนุโมทนาบุญจากใจไปสู่คณะของศาลยุติธรรมกับโครงการนี้...
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
เด่นชัย เด่นชัยประดิษฐ์
รายงาน