เลิกกำหนดอนาคตโดยคนไม่กี่กลุ่ม แนะดึงนักวิจัยตัวจริงมีส่วนร่วม

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ราชบัณฑิต เปิดเผยว่า ปัญหาระบบวิจัยของประเทศไทย ไม่ได้อยู่ที่การควบรวมกระทรวงเป็นการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่อยู่ที่นโยบายที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา ตั้งแต่เริ่มตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้งานวิจัยของประเทศไทยดีขึ้น สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ก็มีหน้าที่ในการเสริมงานวิจัยและนโยบาย งบประมาณของประเทศก็มีเพียงน้อยนิด กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เองก็มีทั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และอีกหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลิตนักวิจัยให้มีคุณภาพและสร้างผลงานวิจัย ดังนั้นควรจะเน้นเรื่องการต่อยอดนำผลงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ที่สำคัญทุกกระทรวงจะต้องมีหน้าที่ทำวิจัยและนวัตกรรมทั้งนั้น การควบรวมหรือตั้งกระทรวงใหม่ แต่ระบบยังเหมือนเดิมก็คงไม่เกิดประโยชน์ การแก้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่องค์กร แต่เราขาดบุคลากรทางด้านวิจัยที่มีคุณภาพ เพราะงบประมาณสนับสนุนการวิจัยมีน้อย

ด้าน ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ จะส่งผลต่อสถานภาพขององค์กรวิจัยดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น สกว. วช. สวทน. สวทช. แต่ประเด็นคำถามที่มีมากขณะนี้คือ หน่วยงานอื่นที่จะมาทำหน้าที่แทนองค์กรเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์จะสามารถทำงานได้ดีขนาดไหน ที่สำคัญประชาคมวิจัย เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในองค์กรต่างๆ ควรได้รับทราบข้อมูลกระทรวงใหม่และสถานะของร่าง พ.ร.บ.สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ และต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศแทนที่จะถูกกำหนดชะตากรรมโดยกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่มไม่กี่คน.

...