ชูแบ่งยา 4 ประเภทช่วยคุ้มครองพยาบาล คาดสรุปความเห็นได้สัปดาห์นี้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลัง สธ.และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมหารือกับสภาการพยาบาล สมาคมพยาบาล สมาคมผู้บริหารสภาการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สภาพยาบาลวิชาชีพชั้นสูง ผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ฯลฯ รวม 10 หน่วยงาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ว่า โดยหลักการในเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ยาฯนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นพ้องกันว่ามีประโยชน์กับประเทศ แต่จะมีประเด็นที่มีความเห็นต่างใน 2 ข้อ คือ 1.ในมาตรา 22 (5) ที่กำหนดเรื่องการจ่ายยาที่ทางพยาบาลเสนอให้มีการอนุญาตให้พยาบาลจ่ายยาได้ด้วย 2.การแยกประเภทยาตามมาตรา 4 ที่เดิมกำหนดให้มี 3 ประเภทคือ 1.ยาควบคุมพิเศษ 2.ยาอันตราย และ 3.ยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งหรือยาสามัญประจำบ้าน แต่พยาบาลเสนอว่าให้แยกเป็น 4 ประเภท โดยเพิ่มยากลุ่มที่ 4 คือยาแผนปัจจุบัน ที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ดังนั้นตนจะนำเรื่องที่หารือเสนอต่อผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะสรุปข้อเสนอเป็น 3 ข้อ คือ 1.ในมาตรา 22 (5) 2.มาตรา 4 และ 3.ในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินวิกฤติให้พยาบาลสามารถให้ยาเพื่อช่วยชีวิตได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังเป็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกับกลุ่มเภสัชกรที่มีการหารือกันก่อนหน้านี้ ทั้งมาตรา 22(5)และเรื่องการแบ่งประเภทยา ทางออกจะต้องทำอย่างไร รองปลัด สธ.กล่าวว่า จะมีการเชิญผู้ที่เห็นต่างมาร่วมหารือกันอีกครั้ง ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่คาดว่าจะต้องหารือกันให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนกรณีพยาบาลกังวลว่ากฎกระทรวง พ.ศ.2539 อาจไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองพยาบาล ขอย้ำว่า สธ.จะคุ้มครองพยาบาลอย่างเต็มที่

...

ด้าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า วันนี้พยาบาลมา 10 องค์กรด้วยกัน ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ภาพรวมเกิดประโยชน์ต่อประเทศ และการปรับปรุงกฎหมายจึงควรครอบคลุมถึงการประกอบวิชาชีพการพยาบาลในการรักษาโรคเบื้องต้นด้วย จึงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 4 ที่แบ่งยาแผนปัจจุบัน 4 ประเภท และสนับสนุนมาตรา 22(5)ด้วย.