Credit : K.H. Joy

ระบบสุริยะของเรามีอายุเก่าแก่ถึง 4,500 ล้านปี เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างความท้าทายให้นักวิทยาศาสตร์อยากจะไขประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันมีร่องรอยหลายอย่างช่วยให้สืบค้น หลักฐานบางชิ้นก็ได้มาเหมือนฟ้าประทาน เช่น อุกกาบาตจากอวกาศที่พุ่งตกลงมายังโลกของเรา และบางลูกก็มีความสำคัญมากเพราะเชื่อว่าจะช่วยเปิดประตูสู่อดีต เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมถึงตรวจสอบศักยภาพของระบบสุริยะอื่นๆได้

การวิจัยครั้งใหม่ที่นำโดยมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ และรายงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ยืนยันว่าอุกกาบาตคอนไดรต์ (chondritic asteroids) ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะ พบว่ามีสารอินทรีย์ที่อาจเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีขั้นพื้นฐานในช่วงที่ระบบสุริยะของเรากำลังก่อตัวขึ้น หลังจากที่ทีมได้วิเคราะห์การสร้างไอโซโทป (Isotopes) ของออกซิเจนในสารอินทรีย์ที่พบในอุกกาบาตลูกนี้

ไอโซโทปเป็นอะตอมของธาตุเดียวกันที่มีจำนวนโปรตอนเหมือนกัน แต่มีจำนวนนิวตรอนแตกต่างกัน โดยไอโซโทปเป็นตัวช่วยให้พบร่องรอยของสารประกอบที่เปรียบเสมือนลายแทงนำไปสู่คำตอบของกระบวนการต่างๆที่เชื่อมโยงกับการก่อตัวและระบุต้นกำเนิดของสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในอุกกาบาตดังกล่าว เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน และกำมะถัน การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าสารอินทรีย์สามารถก่อตัวได้โดยกระบวนการทางเคมีพื้นฐาน ก็มีความเป็นไปได้ว่าสารเหล่านี้จะแพร่กระจายอยู่ในระบบดาวเคราะห์อื่นๆเช่นกัน.