“ภาวะน้ำวิปริต” มีทั้ง “ท่วม” และ “ลด”...มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อ “โรคติดเชื้อ” ทั้งที่มากับน้ำ...โคลน...เลนโดยตรง และที่พ่วงมากับยุง แมลง เห็บ ริ้น

ส่วนที่มากับน้ำที่สำคัญ คือ ท้องเสีย ท้องร่วง ตับอักเสบ A ผ่านทางการกินอาหาร...น้ำที่ปนเปื้อน และไข้หวัดใหญ่ซึ่งผสมโรงตอนหน้าหนาว ในขณะที่ผู้คนอพยพต้องอยู่กันแออัดยัดเยียด อาจเกิดบานปลายระบาดในวงกว้าง และรวมทั้งโรคที่มากับฉี่สัตว์ หนู หมา วัว ควาย (เลปโตสไปโรซิส)

โดยที่เชื้อสามารถชอนไชเข้าผิวหนัง โดยเฉพาะที่เปื่อยจากน้ำกัดเท้า แผลเรื้อรังจากเบาหวาน เส้นเลือดขอด ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อเกิดแผลหนองง่ายอยู่แล้ว

สำหรับโรคที่มากับฉี่สัตว์ เชื้อยังเข้าร่างกายทางเยื่อบุปาก ตา การกินอาหาร น้ำที่มีเชื้อ และหายใจเอาฝอยฟุ้งของฉี่สัตว์ที่มีเชื้อ ทั้งนี้จะเริ่มพบโรคได้มากขณะน้ำเริ่มลด ย่ำน้ำโคลน เลน โดยเชื้อที่ถูกปลดปล่อยออกมาในฉี่สัตว์ จะสามารถมีชีวิตได้เป็นเดือนในโคลน ดินชื้นแฉะ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ำว่า การย่ำน้ำที่มองไม่เห็นพื้น มักเกิดบาดแผล ส่วนของแผลที่กลัวจะเป็นบาดทะยัก ต้องเข้าใจว่าไม่ได้เกิดง่ายดาย จะขึ้นกับลักษณะแผลที่มักเป็นแผลปิด รุ่งริ่ง มีเศษเสี้ยนติดค้าง เนื้อตาย มีหนอง

...

ปัจจัยเหล่านี้...จะเอื้ออำนวยสภาวะพร่องอากาศในแผล ทำให้สปอร์บาดทะยักฟักเป็นตัวแบคทีเรียปล่อยสารพิษเข้าสู่เส้นประสาท

“คนที่ได้วัคซีนบาดทะยักครบในขวบปีแรก และฉีดกระตุ้นเมื่อ 4-6 ปี แม้มีแผลเสี่ยงภายใน 5 ปี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น แต่อายุเกิน 65 ปี ควรกระตุ้นซ้ำ...บาดทะยักไม่เป็นโรคระบาด และมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดในภาวะน้ำวิปริต ข้อสำคัญคือเมื่อมีแผลต้องล้างด้วยน้ำและสบู่เอาวัตถุตกค้างออก”

และ...รักษาการติดเชื้อที่แผลให้หาย ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำหรือโคลน เลน

ข้อแนะนำ...การใช้ขี้ผึ้งแก้น้ำกัดเท้า (Whitfield ointment) ช่วยบรรเทาและรักษาแผลจากน้ำกัดเท้าได้ดี เนื่องจากมีตัวยาฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียในเบื้องต้นได้

ถัดมา...“โรคตาแดง” ในภาวะน้ำท่วมอาจไม่ใช่ไวรัส อาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย รา ซึ่งจะเกิดเป็นรายๆไป อาการตาแดงยังอาจเป็นอาการเตือนของโรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งระบาดในวงกว้างได้

เช่น โรคฉี่สัตว์ ไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก เชื้อจากเห็บ หมัด ทำให้เกิดโรคริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ที่อาการคล้ายกับโรคเลปโตฯ

ยังไม่พอ...ที่น่ากังวลลำดับต่อมาอีกก็คือเชื้อที่มากับยุง แมลง เห็บ ริ้นที่ระบาดได้ นอกจากมาลาเรีย ที่ถิ่นระบาดอยู่ในภาคเหนือ ยังมีที่สำคัญอีกหลายโรคคือ ไข้เลือดออก (dengue) ไข้สมองอักเสบ

“คนที่เคยได้รับเชื้อสมองอักเสบ JE ที่ชุกชุม...ในบ้านเรา ทั้งที่มีหรือไม่มีอาการก็ตาม จะมีภูมิป้องกัน แต่ถ้าได้เชื้อไข้เลือดออกอาจกลับทำให้โรคไข้เลือดออกกลับรุนแรงขึ้นไปอีก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า

น่าสนใจด้วยว่าขณะนี้ต้องระวังไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่จากจีน (SFTV) และไวรัสไข้เลือดออกในตระกูล Filovirus Bunyavirus Arenavirus Flavivirus

ขยายความให้ได้รู้กันต่อไปอีกว่า...“สมองอักเสบนอกจาก JE” ยังเกิดจากไวรัสอีกหลายชนิด อาทิ ไวรัส Chandipura West Nile และไวรัสในตระกูล Togavirus Flavivirus Bunyavirus Reovirus และ Paramyxovirus รวมทั้งไข้เลือดออกเดงกี่...

แม้ไม่มีอาการของไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่แต่ก็ยังทำให้เกิดสมองอักเสบได้เช่นกัน

ดังนั้น...การเกิดผู้ป่วยสมองอักเสบเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าอาจจะเกิดโรคในวงกว้าง และต้องระวังอย่างเคร่งครัด ควรมีมาตรการป้องกัน ไม่ให้ถูกแมลง ยุง เห็บ ริ้นกัด โดยการป้องกันยุง...แมลงกัด ใช้ยาพ่นสเปรย์ที่เสื้อผ้า...ผิวหนังนอกร่มผ้า ยาไล่ยุง แมลง และแบบที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น ตะไคร้หอม

หลักการที่สำคัญอาจต้องทราบคร่าวๆว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆสามารถไล่ยุง แมลง ชนิดใดได้บ้าง ได้นานกี่ชั่วโมง และในระยะห่างกี่เมตร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์
ศ.นพ.ธีระวัฒน์

“ในการฉีดยาไล่ยุง แมลง ห้ามใช้บริเวณที่มีแผล หรือผิวหนังอ่อน เช่น ตา หนังตา ริมฝีปาก...บริเวณใบหู ห้ามฉีดโดยตรงบนใบหน้า ให้พ่นสเปรย์ที่ฝ่ามือก่อนแล้วนำมาลูบใบหน้า ห้ามเด็กใช้ยาไล่ยุงเอง ให้พ่นใส่ฝ่ามือผู้ใหญ่ แล้วลูบไปบนผิวหนังเด็ก...เมื่อกลับมาถึงที่ไม่มียุง แมลง แล้วให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่”

รวมทั้งเสื้อผ้า หากซักล้างได้จะปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกอีกว่า ถ้าทำไม่ได้อาจปล่อยทิ้งไว้ โดยที่ถ้ามีอาการคันหรือผื่นขึ้นค่อยล้างออก ในกรณีของยาไล่ยุงที่ทำจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อาจไม่ต้องเข้มงวดกับการล้างทิ้ง และการระวังเมื่อพ่นที่ผิวหนังอ่อนมากนัก

แต่กระนั้น...ให้ระวังถ้าจะใช้ในเด็กอายุน้อยกว่าสามขวบ สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร

โดยรวมเมื่อเกิดอาการผิดปกติในผู้ประสบภัยพิบัติจากน้ำวิปริต อาจต้องพิจารณาเป็นรายๆไปเพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะที่มาด้วยไข้ ซึ่งอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคฉี่สัตว์ ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

“อาการปวดศีรษะ ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว พฤติกรรมสับสน หรือมีอาการชัก บ่งบอกถึงโรคสมอง และ...หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทั้งที่มาจากแบคทีเรีย ไวรัส จากยุงและแมลง...อาการตาแดง ซึ่งอาจแสดงถึงโรคฉี่สัตว์ ไข้เลือดออก โรคตาแดงจากไวรัส มือเท้าปาก ซึ่งลุกลามเข้า

ไขสันหลังและสมองได้ และอาการท้องร่วง ลักษณะอาการเหล่านี้ เมื่อตรวจพบจำเป็นต้องรีบทำการรักษา ควบคุมการแพร่ระบาดอย่างทันท่วงที”

ย้อนไปดูประสบการณ์ทำงานกรณี “ถ้ำหลวงฯ”...ในแง่มุม

การประสานทำงานสุขภาพหนึ่งเดียว “ถ้ำ”...จัดเป็นสถานที่ที่จัดว่าเป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ เพราะระบบนิเวศที่แตกต่างจากบริบทที่มนุษย์อาศัยอยู่ สภาวะแวดล้อมภายในถ้ำจะคงที่ เนื่องจากไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก การไม่มีแสงแดดส่องถึงทำให้มีสัตว์บางชนิดที่อาศัยอยู่ในถ้ำอาจสิ่งมีชีวิตบางจำพวกที่เป็นแหล่งรังโรคของเชื้อโรคต่างๆ และไม่เคยปรากฏที่ใด

โดยเฉพาะ...ค้างคาว สัตว์ฟันแทะ แมลงชนิดต่างๆ เช่น ริ้นฝอยทราย หากมีมนุษย์ไปสัมผัสหรืออยู่ในถ้ำนานๆ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคอุบัติใหม่ ได้ ทั้งนี้ เชื้อโรคที่พบได้ในสัตว์รังโรคในถ้ำ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ พุ่งเป้าไปที่ประเด็นสำคัญคือ...สุขภาพของคน-สัตว์-สภาวะแวดล้อม-นิเวศวิทยา-ดินฟ้าอากาศ-การเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ การรุกรานที่ธรรมชาติ ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งการเกิดโรคระบาด การมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ แมลง เชื้อ ย่อมจะทำให้สามารถทำนายตระเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคที่จะเกิดขึ้นจากเชื้อใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

นั่นก็คือ มนุษย์ไม่เคยเจอะเจอเชื้อและไม่เคยมีภูมิคุ้มกันแต่ต้น เมื่อเกิดติดเชื้อก็จะมีอาการและแพร่ได้ในวงกว้าง จากวัฏจักรที่ว่า...ถ้าจะทำให้ระบบโลกเดียว-สุขภาพเดียว เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์เต็ม

“ต้องมีการบูรณาการการทำงานของคนในทุกสาขา ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สัตว์ แมลง หมอ สัตวแพทย์ ระบาดวิทยา สังคม ศึกษาผลและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และต้องมีการสื่อสารความเสี่ยงให้กับพื้นที่และประชาชน เพื่อให้ป้องกันตัวได้ทันท่วงทีและรายงานด้วยความเต็มใจไม่ต้องมีใครบังคับ”

รับมือต่อความเสี่ยงของโรคติดต่อได้อย่างฉับไว ทันเวลา...เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์จะต่อกรกับ “โรคอุบัติใหม่” ได้อย่างเท่าทัน.