5 มิถุนายนของทุกปี ได้กำหนดเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environ-ment Programme : UNEP) ประกาศแนวคิดรณรงค์ “รักษ์โลก ลดพลาสติก” ขณะที่ข้อมูลของ กทม.พบว่า จัดเก็บขยะประเภทถุงพลาสติกได้เฉลี่ยถึง 80 ล้านใบต่อวัน

รายงานพิเศษ จะไปพูดคุยกับ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. วัลยา วัฒนรัตน์ ถึงแผนการบริหารจัดการขยะพลาสติกของ กทม.

ถาม-ขยะพลาสติกในกรุงเทพฯปัจจุบันมีมากเพียงใด และใช้วิธีใดในการกำจัด

วัลยา-ขยะที่ กทม.จัดเก็บได้หลักๆแล้วจะแยกเป็นองค์ประกอบของขยะ เช่น ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ขยะพลาสติก โดยเฉลี่ย กทม.จัดเก็บขยะมูลฝอยได้ 10,500 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก เช่น หลอด ถุงพลาสติก รวมถึงพลาสติกประเภทอื่นๆ 1,400 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของขยะที่จัดเก็บได้ สำหรับการกำจัดขยะมีทั้งการเผาซึ่งมีค่าใช้จ่ายตันละ 950 บาท และการฝังกลบ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตันละ 700 บาท แต่การฝังกลบขยะพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี หากจะฝังกลบไปเรื่อยๆขยะพลาสติกใต้ดินก็จะมหาศาล ดังนั้น วิธีการกำจัดที่ดีที่สุดคือ ต้องช่วยกันลดปริมาณขยะ

ถาม-กทม.มีมาตรการรณรงค์เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง

วัลยา-อันดับแรกต้องช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ลดการใช้ขยะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น หลอด ถุงพลาสติก ซึ่งจากข้อมูลที่ กทม.สามารถจัดเก็บได้ 80ล้านใบต่อวัน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่อาศัยในกรุงเทพฯ มีประมาณ 10 ล้านคน เฉลี่ยใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ใบต่อวัน หากเราช่วยกันลดคนละ 1 ใบต่อวัน และปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก เราจะสามารถลดได้วันละ 10 ล้านใบ

นอกจากนี้ กทม.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายลดขยะพลาสติก และใช้พลาสติกให้มีคุณค่ามากที่สุด

...

พร้อมกันนี้ จากการที่ประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะไหลลงสู่ทะเลมากที่สุด การลงนามความร่วมมือดังกล่าวได้ตั้งเป้าลดปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่ทะเลไทยให้ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 ซึ่งจะต้องมีการคัดแยก จัดเก็บขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบ เพิ่มอัตราการรีไซเคิลมากขึ้น สร้างพฤติกรรมให้ลดใช้ขยะที่ใช้ครั้งเดียว หากจัดการขยะบนบกได้ ขยะจะไม่ไหลลงสู่ทะเล กทม.จะนำร่องการจัดการขยะที่ดีในพื้นที่เขตคลองเตย ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำรวจเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเขตอื่นๆต่อไป.