การเลี้ยงกุ้งในอดีตมักใช้สารเคมีแก้ปัญหาทุกอย่าง แทบไม่มีใครคิดนำ ปม.1 จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียของกรมประมงที่ได้ฟรีๆมาใช้แทนสารเคมี...นี่คือจุดเด่นทำให้ วศิน ธนภิรมณ์ อดีตประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง จ.ปัตตานี คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ประจำปี 2561
“หลังจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจากโรคตายด่วนในปี 2556 เริ่มศึกษาดูงานตามฟาร์มต่างๆทั่วประเทศ ปี 2558 จึงเอาเทคนิคต่างๆที่เรียนรู้มาบวกกับประสบการณ์ส่วนตัว สร้างเทคนิคการเลี้ยงแบบสร้างสมดุลธรรมชาติ ที่ลงทุนน้อยกว่าเลี้ยงกุ้งแบบเดิมกว่า 30% แต่ให้ผลผลิตสูง อัตรารอดเกือบ 100% ไม่ต้องพึ่งยาหรือสารเคมี จนชาวบ้านเรียกติดปาก เลี้ยงกุ้งสูตรคนจน โดยมีหัวใจหลักคือ พอเพียง และ ปม.1”
พอเพียง...ทำใจไม่โลภ ลงกุ้งน้อยแค่ไร่ละ 70,000-100,000 ตัว จากเดิมที่เคยลงกัน 400,000-500,000 ตัว เมื่อลงกุ้งไม่หนาแน่น การตีน้ำน้อยลง ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า ส่วนอาหารจะให้ขาดนิดหน่อย ไม่ให้กินจนอิ่ม เพราะเมื่อมีอาหารจำกัด กุ้งจะกินไม่เหลือ ประหยัดทั้งค่าอาหาร และค่าบำบัดน้ำ

...
ปม.1...ใช้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เตรียมน้ำ นำ ปม.1 แบบขวด 2 ขวด และแบบซอง 1 ซอง กากน้ำตาล 5 กก. รำละเอียด 3 กก. แป้งมันขนาด 1.5 กก. 3 ถุง ผสมน้ำ 200 ลิตร เปิดเครื่องให้ออกซิเจน ปิดฝาทิ้งไว้ 36 ชม. เตรียมน้ำวันแรกถึงวันที่ 5 สาดน้ำหมักทุกวันวันละ 400 ลิตร (ขนาดบ่อ 4-5 ไร่) วันที่ 6-10 ให้ลดเหลือวันละ 200 ลิตร เพื่อให้เกิดสัตว์หน้าดินเป็นอาหารกุ้งวัยอ่อน ทำให้ 15 วันแรกที่ลงกุ้ง ให้อาหารกุ้งเพียง 10%
ระหว่างการเลี้ยงจนถึงวันจับ ยังคงสาดน้ำหมัก ปม.1 ทุกวัน แต่ปรับเปลี่ยนสูตรหมัก ไม่ต้องผสมรำละเอียดและแป้งมัน และลดปริมาณลงเหลือวันละ 100 ลิตร เพื่อสร้างอาหารธรรมชาติตลอดการเลี้ยง ทำให้กุ้งได้กินทั้งอาหารธรรมชาติ และอาหารเม็ด กุ้งจึงแข็งแรง มีภูมิต้านทาน อัตรารอดสูง ขณะเดียวกัน จุลินทรีย์ยังช่วยให้ค่าพีเอชไม่แกว่ง ค่าอัลคาไลน์สูง ช่วยบำบัดน้ำ ต้านทานโรคกุ้งตายด่วน และโรคตัวแดงดวงขาว
ท้ายสุด วศิน บอกถึงเคล็ดลับการเลี้ยงกุ้ง...พื้นบ่อจะเลี้ยงปลานิลเพื่อบำบัดตะกอนก้นบ่อไร่ละ 400 ตัว ที่สำคัญเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน ให้กุ้งได้รับแร่ธาตุจากน้ำใหม่ตลอด ทำให้ไม่ต้องเติมแร่ธาตุเพิ่ม ส่งผลกุ้งลอกคราบได้ตลอด ทำให้กุ้งแข็งแรง ไม่เป็นโรคขี้ขาว คุมสีน้ำและค่าพีเอชไปในตัว สอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-9876-4610.