2 แพทย์รามาธิบดี ร่วมทีมวิจัยคิดค้นวิธีรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาด ด้วยการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก ไม่ต้องเข้ารับการถ่ายเลือดอีก...

วันที่ 30 เม.ย. 61 แฟนเพจเฟซบุ๊ก Rama Lounge ได้เผยแพร่เรื่องน่าดีใจอย่างมาก หลังค้นพบ “วิธีการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการบำบัดยีนเป็นครั้งแรกของโลก” ซึ่งโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจาง ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสน้อยที่จะหายจากโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ต้องรักษาแบบประคับประคองโดยการให้เลือดและยาขับเหล็กตลอดชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 200,000-300,000 คนในประเทศไทย ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการตั้งแต่ 2-3 ปีแรกที่เป็นโรค ซึ่งจะต้องได้รับเลือดทุกเดือน

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก และอาจารย์แพทย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ทำการวิจัย เปิดเผยผ่านแฟนเพจดังกล่าวว่า บุคลากรในไทยที่เข้าร่วมวิจัยนี้มีอีก 2 คน คือ ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ อาจารย์แพทย์จากหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็กของรามาธิบดี และ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ แห่งศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือต่างประเทศคือ Professor Philippe Leboulch, นักวิจัยจาก University of Paris และทีมแพทย์จากสหรัฐอเมริกา Harvard Medical School

“การใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากพ่อแม่ของผู้ป่วยนำมาทดลองรักษา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการการรักษาโรคธาลัสซีเมีย ความยากคือการตัดต่อยีน ซึ่งเราก็ทดลองจนประสบความสำเร็จในที่สุด โดยเราเป็น 1 ใน 8 แห่งทั่วโลกที่ทำการรักษาในรูปแบบนี้ น่ายินดีที่ผลการรักษาคนไข้ทั้งสามเป็นไปอย่างที่ยอดเยี่ยมโดยที่พวกเขาไม่ต้องเข้ารับการถ่ายเลือดอีก ทั้งที่ต้องเคยถ่ายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้สามารถไปโรงเรียน ไปทำงาน หรือเล่นกีฬาได้ และตอนนี้ก็มีชีวิตที่ปกติสุข”

...

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้ใช้เวลา 5-6 ปีกว่าจะประสบความสำเร็จ หลังจากที่มีการวางแผนมานานเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้ ณ ปัจจุบัน การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เราก็มีความคาดหวังว่าต้องการให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีระบบการรักษารูปแบบนี้อย่างครบวงจร.

(ขอบคุณเฟซบุ๊ก Rama Lounge)