เราๆท่านๆน่าจะยังคงจำเรื่องการระบาดของ “ไข้หวัดนก” น่าสนใจว่า ขณะนี้มีคนป่วยในประเทศจีน และทั้งจีนและฮ่องกงก็ได้ประกาศมาตรการคำแนะนำในการระวังตัวและการแพร่ระบาดแล้ว โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนนี้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ความจริงเชื้อไข้หวัดนกระบาดในภูมิภาคนี้และในประเทศไทยมาตลอดและมีทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม H5N1 จนถึงสายพันธุ์ต่างๆที่ประกอบด้วยเบอร์หรือตัวเลขนานาชนิด
ทั้งนี้ เนื่องจากมีการผสมปนเปกันของ “เชื้อ” ที่มาจาก “นกป่า” ตามธรรมชาติที่มีการอพยพมาตามฤดูกาลจากภูมิภาคต่างๆ...สัตว์ปีกในพื้นที่...จากหมู รวมทั้งมีการพัฒนาการ เช่น อยู่ในเป็ดหลังบ้าน เป็ดไล่ทุ่งโดยอยู่ด้วยกันเฉยๆ ไม่เจ็บป่วยไม่เกิดโรค และตระเวนไปเรื่อยๆ เป็นเชื้อความรุนแรงต่ำ...low pathogenic
น่าสนใจว่าเชื้อความรุนแรงต่ำจะมีความสามารถในการปรับความรุนแรงให้สูงขึ้น โดยสามารถกระโดดไปติดสัตว์ปีกชนิดอื่นคือ “ไก่” และมีอาการเกิดโรคตาย
ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่าเชื้อมีวิวัฒนาการ ข้ามสายพันธุ์และอีกสัญญาณเตือนที่สำคัญคือ ข้ามจากสัตว์ปีกมาเป็นในสัตว์สี่เท้า เช่น สุนัข แมว สัตว์ในสวนสัตว์ที่เลี้ยงดูด้วยการให้กินเป็ดไก่ดิบๆ
ต้องย้ำว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงการพัฒนาการขึ้นว่าจะมีการติดสู่คนและขั้นตอนสุดท้ายที่เชื้อมีวิวัฒนาการสูงสุดคือทำให้มีการติดต่อจาก “คนสู่คน”
โดยมีความสามารถในการทำให้เกิดโรค จากคนคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ หลายๆคน รวมทั้งมีการแพร่ด้วยกระบวนการต่างๆโดยการสัมผัสใกล้ชิดจากฟองฝอยละอองไอจาม น้ำลาย...ซึ่งหมายถึงมาตกที่ผิวเนื้อหรือเยื่อบุของเราโดยตรง หรือการที่ฝอยละอองจากการไอจามไปตกอยู่ที่พื้นผิวภาชนะซึ่งเราเอามือไปจับ ไปแตะ และก็ไปสัมผัสภาชนะอื่น...ไปจับลูกบิดประตู รวมทั้งมาสัมผัสตัวเอง ขยี้ตา แคะจมูก เอาเข้าปาก และเชื้อยังแพร่ทางอุจจาระได้
...
“การที่เชื้อสามารถแพร่จากคนที่ติดเชื้อแล้วไปยังคนอื่นโดยที่คนติดเชื้อไม่มีอาการใดๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะถ้าระยะเวลาที่ปล่อยเชื้อโดยที่คนปล่อยไม่มีอาการผิดปกติ มีเวลาเนิ่นนานยาวไปเพียงใด เช่นสามถึงสี่วันก็จะมีโอกาสทำให้มีการระบาดในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ”
ถึงตรงนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า การพัฒนาการแพร่ที่ถึงระดับสูงสุดคือการแพร่ทางอากาศได้จากการหายใจหรือผ่านช่องทางเครื่องปรับอากาศรวม อย่างเช่นโรคซาร์ส ที่เคยระบาดที่ฮ่องกงและสามารถแพร่กระจายในโรงแรมจากชั้นล่างถึงชั้นบนสูงไปหลายชั้นได้

ปัจจุบันการป้องกันอย่างง่ายๆ ดังที่ทางการจีนและฮ่องกงประกาศก็คือ หนึ่ง...หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงตัวเป็ด ไก่ นก สัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะในตลาด ทั้งนี้ รวมถึงขี้ เยี่ยว สอง...เวลาที่ซื้อไก่ เป็ดเป็นๆ ห้ามจับตัวและรวมถึงที่เปรอะเปื้อนขี้ เยี่ยวโดยตรง สาม...ห้ามตรวจไก่ที่จะซื้อด้วยการเป่าตูด
สี่...การทำอาหาร และการบริโภคไข่ที่ซื้อมา ห้ามจับด้วยมือเปล่าโดยตรงและล้างไข่ให้สะอาดด้วยน้ำยาโดยเฉพาะถ้าเห็นว่ามีปนเปื้อนด้วยขี้อยู่ตามเปลือก
ที่ต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด ทำอาหารแน่ใจว่าเนื้อไก่ เป็ด ไข่ สุกดี, อย่ากินไข่ดิบ ไข่ลวกสุกๆดิบๆหรือที่เป็นยางมะตูม กินไข่ต้ม ไข่ดาวสุกเต็มที่ ทั้งไข่ขาวและแดง, ต้องไม่เอาเนื้อไปจิ้มไข่ดิบและเอามากิน

“เนื้อเป็ดไก่ที่เอามาทำอาหาร ผัด ปิ้งย่างต้องสุก ไม่เหลือให้เห็นว่ามีเลือดซึมออกมาได้ กระดูกดูที่ไขกระดูกถ้ายังมีสีแดงให้ทำการผัด ปิ้งย่างใหม่...ล้างมือให้สะอาดหมดจดด้วยน้ำและสบู่ถ้าไปสัมผัสไก่ เป็ด ไข่...
ล้างมือให้สะอาดเอี่ยมก่อนที่จะเอามือมาสัมผัสหน้า ปาก จมูก ตา ก่อนกินข้าว ก่อนที่จะไปจับอาหารมากิน ล้างมือให้สะอาดหลังจากเข้าห้องน้ำ หลังจากที่ไปจับสิ่งต่างๆตามที่สาธารณะ เช่น ประตู ราวบันได ในลิฟต์ลูกบิดประตู” นอกจากนี้ ยังต้องล้างมือและผิวกายด้วยน้ำและสบู่ถ้าสัมผัสละอองฝอยจากการไอหรือจามไม่ว่ามาจากตัวเองหรือจากคนอื่นๆ...สวมหน้ากากอนามัยถ้าตัวเองรู้สึกไม่สบายครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้หรือมีอาการไอจาม น้ำมูกไหล หรือเมื่อต้องเข้าไปในสถานพยาบาลในโรงพยาบาล รวมทั้งเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วยที่มีอาการไข้ มีอาการไอจาม
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา Centre for Health Protection ภายใต้ Department of Health เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้รับแจ้งจาก National Health and Family Planning Commission (NHFPC) ของประเทศจีน พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N4 เป็นเพศหญิง อายุ 68 ปี อาศัยอยู่ที่เมืองลีหยาง ฉางโจว มณฑลเจียงซู...เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2560 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 และออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 22 มกราคม 2561
ก่อนเริ่มป่วยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกมีชีวิต ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไม่มีอาการป่วยใดๆ
“เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7 ส่วนใหญ่ไม่ก่ออาการรุนแรงในสัตว์ปีก (Low Pathogenic Avian Influenza) โดยสายพันธุ์ H7N4 เคยมีการตรวจพบในสัตว์ปีกธรรมชาติในหลายประเทศ”
เช่น อิตาลี ทั้งนี้มีรายงานสายพันธุ์รุนแรงทำให้เกิดการระบาดในไก่ที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2540 และข้อมูลจากปศุสัตว์ฯ ประเทศไทย เคยแยกเชื้อได้ในเป็ดที่นครสวรรค์ ในปี 2554 แต่ไม่มีรายงานพบการแพร่ระบาดมาสู่คน ซึ่งการเจอเชื้อชนิดนี้ในเป็ด สามารถเจอได้ปกติ และสามารถพบได้ทั่วโลก
ประเด็นต่อมา...เหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของโลกที่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N4 สามารถทำให้คนป่วยได้ และ Centre for Health Protection ของฮ่องกงแนะนำให้ผู้เดินทางไปประเทศจีน หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ตลาดสด และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ รวมถึงไม่สัมผัสสัตว์ปีก นก หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ
รวมถึงเลี่ยงการสัมผัสมูลของสัตว์ หลีกเลี่ยงการซื้อสัตว์ปีกมีชีวิตหรือที่เพิ่งเชือดใหม่ๆ มีสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือบ่อยๆ และหากมีอาการป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยและพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ตอนนี้ยังไม่มีคำแนะนำจาก WHO เป็นการเฉพาะ H7N4 ยังคงใช้มาตรการไข้หวัดนกโดยทั่วไป

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกอีกว่า ข้อมูลปกปิดหรืออาจยังไม่เป็นที่เปิดเผยในวงกว้าง “ไข้หวัดนก” ระบาดในบ้านเรามานานแล้ว ปิดข่าวมาปีกว่า...40 กว่าจังหวัด...H5N1 low patho เป็น high ปกติอยู่ในเป็ด มาไก่...ไก่ไม่ตาย กลายเป็นไก่ตายเป็นเบือ มาสัตว์อื่นๆ กระทั่งความแตกที่โคราชตอนลามเข้ามาที่สวนสัตว์และระบาดไปทั่ว
“ราวๆสองเดือนที่แล้ว ข่าวนี้ยังไม่เป็นที่เปิดเผยแต่ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศไปทั่วตามโรงพยาบาลให้ระวังคนไข้ที่มีอาการของไข้หวัดใหญ่ให้ซักประวัติเรื่องสัมผัสสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ปีกหรือสัตว์อื่นและในบริเวณนั้น...มีคนที่มีอาการต่อเนื่องกันหรือไม่”
สถานการณ์รอบประเทศเรามีรายงานไข้หวัดนกมาตลอด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่แจ้งให้ทางกระทรวงสาธารณสุขรับรู้ เหตุเพราะกลัวว่าจะกระทบธุรกิจอะไรหรือเปล่า? ควรที่จะต้องหาทางลงให้นุ่มนวล...ช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้น่าจะเป็นโอกาสให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตื่นตัว ระมัดระวังตัวกันให้มากขึ้น
ตื่นตัวแต่อย่าตื่นตูม...ป้องกันเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ ดีกว่าวัวหายแล้วคิดจะมาล้อมคอก.