ทำเฉพาะในพรรคสกัดอำนาจ ‘กกต.’ อดีตส.ส.ซัดบิ๊กตู่ ใช้วาทะแบ่งแยก!

กรธ.จ่อปรับแก้ระบบไพรมารีอีกรอบ ให้เป็นเรื่องภายในพรรค ตัดอำนาจ กกต. ควักใบเหลือง ใบแดง เชื่อ สนช.ผ่านฉลุยไร้ปัญหา “วิรัตน์” หนุนห้าม กกต.จุ้นจ้าน ดักคอระวังเสียคนขืนยื้อเลือกตั้ง “สมคิด” ซัด “บิ๊กตู่” ผุดวาทกรรมย้อนยุค “พรรคเทพ-พรรคมาร” “ปู่พิชัย” ชี้การเมืองคุยกันไม่รู้เรื่อง ได้เห็น “ประยุทธ์” รีเทิร์น แนะยึดโมเดล “ป๋าเปรม” อย่าใช้แต่ทหารไปไม่รอด “สาธิต” ตอกลิ่ม 3 บิ๊กรัฐบาลขบเกลียวอำนาจ “บุญสร้าง” ลั่นยังไม่มีโมเดลนำร่องปฏิรูปตำรวจ “องอาจ” จี้ล้างใต้โต๊ะ “วิชาญ” ชู ก.ตร.ต้องผ่านเลือกตั้ง ผลบุญ พ.ร.ก.ต่างด้าวส่งชื่อ “วรานนท์” มาแรงแซงโค้งท้ายนั่งปลัดแรงงาน

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมืองที่ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะประเด็นไพรมารีโหวต ล่าสุดนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า กรธ.เตรียมพิจารณาปรับแก้ไขเนื้อหาร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

กรธ.จ่อปรับแก้ไพรมารีอีกรอบ

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ประเด็นไพรมารีโหวตที่ถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ หลังจาก กรธ.เชิญ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าชี้แจงเบื้องต้น พล.อ.สมเจตน์เห็นด้วยกับรายละเอียดและประเด็นที่ กรธ. จะเขียนเพิ่มในกลุ่มมาตราว่าด้วยการทำไพรมารีโหวต 5 มาตรา และในบทเฉพาะกาล 1 มาตรา โดยยังคงหลักการของระบบไพรมารีไว้ สำหรับประเด็นที่แก้ไขปรับปรุง อาทิ กรณีข้อพิพาท หรือมีข้อร้องเรียนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบไพรมารีของพรรค กรธ.กำหนดให้การทำไพรมารีโหวตเป็นเรื่องภายในเฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้น จะไม่ขยายไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายทั้งประเทศ และเพื่อไม่ให้ กกต. มีอำนาจแจกใบเหลือง ใบแดง กระบวนการภายในพรรคได้ แต่หน้าที่ของ กกต.ต่อเรื่องนี้ คือ การกวดขันว่าพรรคการเมืองดำเนินการตามนี้แล้วหรือไม่ และหลังจากทำรายละเอียดเสร็จ กรธ.จะเสนอให้ที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา

...

เชื่อผ่าน สนช.ฉลุยไร้เหตุผลคว่ำ

เมื่อถามถึงข้อท้วงติงของระบบไพรมารี อาจทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กทำได้ยากและเสียเปรียบพรรคใหญ่ นายอุดมตอบว่า ในเนื้อหาบทเฉพาะกาล ได้ปรับให้มีความยืดหยุ่นพอสมควร คือ หากพรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคในจังหวัดใด ให้สิทธิส่งผู้สมัครได้ทุกเขตของจังหวัด ส่วนพรรคใดที่มีสมาชิกพรรคในจังหวัดเกิน 100 คน ให้ตั้งผู้แทนพรรคในจังหวัดนั้น และมีสิทธิส่งสมัครได้ทุกเขต จากเดิมที่กำหนดว่าต้องมีผู้แทนพรรคในเขตเลือกตั้ง เช่น พรรคการเมืองต้องมีสาขาให้ครบ 4 ภาคตามที่ กกต.กำหนด เมื่อถามถึงแนวทางการโหวตของ สนช.ที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่า พรรคการเมืองฉบับที่มีการปรับแก้ไขเนื้อหา นายอุดมตอบว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ สนช.ต้องคว่ำ เพราะก่อนหน้านี้ สนช.เป็นผู้ผ่านร่างกฎหมาย และเห็นชอบในหลักการไพรมารีโหวต หากลงมติไม่ให้ผ่าน เท่ากับทำขัดหลักการตั้งแต่ต้น ซึ่งค่อนข้างพิลึก

หนุนห้าม กกต.ยุ่งเรื่องภายใน

ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีเเนวโน้มจะปรับแก้ไขไม่ให้ กกต.มีอำนาจเเจกใบเหลือง ใบเเดงในขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตเลือกผู้สมัครภายในพรรค ว่าเห็นด้วยถ้ามีการปรับแก้แบบนี้ ถ้าให้พรรคการเมืองจัดทำไพรมารีโหวตกันเอง ไม่ควรให้ กกต.มายุ่งเกี่ยวนั้นถูกต้อง และอีกช่องโหว่ที่อยากให้ปรับแก้ไขเพิ่มเติม คือการจ่ายค่าสมาชิกพรรคเเบบตลอดชีพที่บัญญัติไว้ 2,000 บาทต่อคน ถือว่ามากเกินไป ควรลดเหลือ 200 บาท ประชาชนจะได้ไม่ต้องรับภาระ และยังตอบโจทย์การมีส่วนร่วมมากขึ้น

ดักคอระวังเสียคนยื้อเลือกตั้ง

นายวิรัตน์กล่าวว่า เมื่อฝ่ายผู้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ บอกว่ามีเเนวโน้มพูดคุย ตกลงทำความเข้าใจตกผลึกเเล้ว หากถึงเวลา สนช.มีมติโหวตคว่ำกฎหมายลูกขึ้นมา คงไม่มีสมมติฐานอื่น นอกจากทุกอย่างเป็นไปตามข่าวลือ คืออยากคว่ำร่างกฎหมายเพื่อเลื่อนเลือกตั้ง แต่คิดว่าตอนนี้สัญญาณจากผู้มีอำนาจ คงไม่อยากเลื่อนวัน หรือยื้อเวลาเลือกตั้งเเน่นอน ไม่เช่นนั้นเสียคนแน่

ซัด “บิ๊กตู่” ผุดวาทกรรมแบ่งแยก

ด้านนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ฟังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” สัปดาห์ที่ผ่านมา กับประโยคที่บอกว่า “เลือกคนดี” เหมือนย้อนไปสู่ยุคที่พูดกันถึง “พรรคเทพ-พรรคมาร” เป็นวาทกรรมสร้างการแบ่งแยก ไม่อยากให้นายกฯพูดจาลักษณะนี้ บอกว่าพวกที่พูดเรื่องสืบทอดอำนาจไม่ใช่คนไทย รัฐบาล และ คสช.ไม่ได้มุ่งหวังสืบทอดอย่างที่กล่าวหานั้น พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธอย่างไรก็ได้ แต่การกระทำจะเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายต่างๆ หรือการได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน ทำให้ผู้ที่ติดตามคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ วันนี้รัฐบาลใช้อำนาจทุกอย่างบริหารจัดการ ควรคิดย้อนกลับบ้างว่าทำไมประชาชนจำนวนมากยังเดือดร้อน โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร ทำไมเศรษฐกิจมันดีแต่ยอดพีระมิด แล้วทำไมคนจำนวนมากถึงไม่ชอบดูรายการที่นายกฯพูด เพราะเขาไม่เชื่อที่ท่านพูด เนื่องจากผ่านมา 3 ปีมันยังไม่ดีขึ้น

เปลี่ยน “เฮทสปีช” เป็น “เกรทสปีช”

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในโอกาสวันเข้าพรรษานี้ เรื่องสำคัญเร่งด่วนคือการสร้างความปรองดอง ต้องเริ่มที่ใจของทุกฝ่าย ถ้าใจไม่ปรองดอง จะให้เซ็นเอกสารกี่ชุดก็เหมือนเดิม ดังนั้น ฝ่ายที่อยู่ในสมการความขัดแย้ง ควรมีความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน มองอีกฝ่ายเป็นกัลยาณมิตร จุดเริ่มต้นที่ดี คือการลด เลิก ละ “เฮทสปีช” ที่เป็นวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง เปลี่ยนเป็น “เกรทสปีช” คือการพูดที่สร้างสรรค์ ไม่โจมตีใส่ร้ายบุคคลอื่นด้วยความเท็จ ถ้าไม่เริ่มสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่สร้างสรรค์ การปรองดองก็เกิดขึ้นยาก พรรคเพื่อไทยมีการพูดคุยในหมู่สมาชิกว่าจะทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ไม่โจมตีด้วยความเท็จ จะเสนอการแก้ปัญหาประเทศแบบติเพื่อก่อ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก รัฐบาลจึงไม่ควรกังวลว่าการแสดงความคิดเห็นจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล ควรเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เพราะไม่เคยมีใครล้มรัฐบาลได้จากการพูด รัฐบาลควรรับฟังให้มากขึ้น การบริหารประเทศหลายหัวดีกว่าหัวเดียว และไม่ควรกล่าวโทษรัฐบาลเก่าโดยไม่จำเป็น เพราะเขาไม่มีโอกาสชี้แจง เมื่ออยู่ในตำแหน่งและมีหน้าที่แก้ปัญหา ควรทำให้เต็มที่

“เรืองไกร” เอาอีกยื่นล้ม ก.ม.ป.ป.ช.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อย้อนไปดูการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 66 ช่วงเดือน ก.พ. 2550 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนั้น พบว่ากระบวนการตรากฎหมายมิชอบ เพราะมีจำนวนสมาชิก สนช.เข้าประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ไม่มีการทักท้วงจนกฎหมายมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2550 ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 66 ย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรม อาทิ คดีสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 คดีระบายข้าวแบบจีทูจี คดีจำนำข้าว ศาลหรือคู่ความสามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวชอบหรือไม่ และจำเลยคดีเหล่านี้ควรยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลขอให้ศาลรอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว เชื่อว่าผลของคำวินิจฉัยจะเป็นไปในแนวทางเดิมที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว 7 เรื่อง คือ เมื่อองค์ ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ย่อมทำให้กระบวนการตรากฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และสิ้นผลไป โดยตนจะไปยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว ในวันที่ 11 ก.ค.นี้

ตอกลิ่ม 3 บิ๊ก รบ.ขบเกลียวอำนาจ

อีกเรื่อง นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เหตุผลลึกๆอาจเกี่ยวข้องเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ป. กับ 1 ส. ในรัฐบาล คสช. เช่น การเลือกลงทุนระหว่างรถไฟไทย-จีน หรือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ทำให้เห็นว่าความคิดไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ปัญหาวันนี้ไม่ใช่นักลงทุนจะมองนโยบายรัฐจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. อย่างเดียว เขาดูปัจจัยความมั่นคงทางการเมืองประกอบกัน ถ้า 2 ป. 1 ส. ยังมีความคิดไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ความเชื่อมั่นจะไม่เกิด นักลงทุนคงไม่กล้าควักกระเป๋า องคาพยพเศรษฐกิจตามแผนรัฐบาลจะไม่ถูกขับเคลื่อน ดังนั้น ก่อนทำนโยบายเพื่อกระตุ้น เช่น เรื่องอีอีซี หรือนโยบายลงเม็ดเงินช่วยเหลือคนจน ต้องกระชับขั้วอำนาจระหว่าง 2 ป. กับ 1 ส. เสียก่อน ถ้าจับมือ กันได้แนบสนิท ฟันเฟืองการแก้ไขปัญหาจะเดินหน้าสู่เป้าหมายเป็นระบบ แต่หากยังจับมือกันไม่แน่นอย่างที่ผ่านมา จะเกิดร้อยร้าวนำมาซึ่งปัญหาอีกมาก แล้วล้มเหมือนโดมิโนทั้งระบบ ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ สุดท้ายลูกศรจะย้อนกลับมาที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง จนอยู่ไม่ได้

“พิชัย” ชี้อาจได้เห็น “บิ๊กตู่” รีเทิร์น

ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะกลับมาเป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า ความจริงไม่อยากฟันธง ถึงรัฐธรรมนูญใหม่จะเอื้อให้มีนายกฯคนนอก ก็ต้องยอมรับปฏิบัติตาม ส่วนโมเดลจัดตั้งรัฐบาลตนเคยบอกไว้ คือนักการเมืองต้องจับมือปรองดองประสานรอยร้าวกันให้ได้ก่อน เพื่อตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่มีทหาร แต่ตราบใดที่ปรองดองกันไม่ได้ก็ลำบากในการบริหารบ้านเมือง อย่าเพิ่งไปดูแคลน พล.อ.ประยุทธ์ เท่าที่ดูเป็นคนใช้ได้ตรงไปตรงมา ทำงานไม่ค่อยมีปัญหา ถึงจะมาจากการยึดอำนาจ ดังนั้น ถ้านักการเมืองปรองดองกันไม่ได้ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะมาตามข่าวลือจริง นักการเมืองก็ควรหันมาสนับสนุน

แนะยึดโมเดล “ป๋า” อย่าใช้แต่ทหาร

นายพิชัยกล่าวต่อว่า ส่วน พล.อ.ประยุทธ์หากจะมาเป็นนายกฯคนนอก ตนหวังและอยากเห็นว่าจะจัดตั้งรัฐบาลตามโมเดลสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณนสูลานนท์ เคยทำไว้ คือดึงคนมีความรู้ตรงสาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่น มาช่วยงานผสมผสานเพื่อชาติ อย่าเลือกแต่ทหารทั้งหมดไม่เหมาะสม ใช้ทหารทั้งหมดบ้านเมืองไปไม่รอด แต่ข้อเสนอตนไม่ใช่แนวทางจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยไม่มีฝ่ายค้าน หากจะมีนายกฯคนนอกจริงๆ คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถทำเเบบ พล.อ.เปรมได้

ยังไม่มีโมเดลนำร่องปฏิรูป ตร.

สำหรับความเคลื่อนไหวการดำเนินการปฏิรูปตำรวจ วันเดียวกัน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า การประชุมนัดแรกจะมีขึ้นวันที่ 12 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถนนแจ้งวัฒนะ โดยจะหารือถึงกรอบการทำงาน และแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการฯ ด้านต่างๆ เช่น อนุกรรมการด้านองค์กร อนุกรรมการด้านกระบวนการยุติธรรม อนุกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายที่ดูเรื่องการบริหารบุคคล และอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นต้น แต่ตอนนี้ยังไม่ยึด โมเดลใดมาดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องเนื้อหาที่มีรายละเอียด ต้องรอให้เริ่มดำเนินการกันก่อน

พร้อมรับฟังความเห็นประชาชน

เมื่อถามว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. และ พล.อ.บุญสร้างทบทวนวิธีการทำงานจากที่แบ่งช่วงเวลา 2-3-4 เป็น 4-3-2 แทน พร้อมกับขอให้รับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนร่างกฎหมายนั้น พล.อ.บุญสร้างตอบว่า ยืนยันว่าคณะกรรมการฯ จะแบ่งการทำงานเป็นช่วงเวลา 2-3-4 ตามที่ได้แถลงรายละเอียดไปก่อนหน้านี้ เราต้องรับฟังความเห็นประชาชนอยู่แล้วผ่านอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ตนและคณะกรรมการฯ ทุกคนตั้งใจทำงาน 100 เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ดูคณะกรรมการฯ ทุกคนเป็นคนดี เราตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนคาดหวังมานาน

“องอาจ” จี้ ตร.ทำงานไร้ใต้โต๊ะ

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีเสียงเรียกร้องจากสังคมมากให้ปฏิรูปตำรวจ แม้ตำรวจจะพยายามทำงานเชิงบวก แต่ไม่สามารถลบภาพลบออกไปจากความรู้สึกคนได้ ทั้งที่ตำรวจที่สร้างภาพลบเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ การเลือกปฏิบัติ เวลาคนจนติดต่องานมักได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนรวย หรือคนมีหน้ามีตาในสังคม พบความล่าช้าจนก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ขอฝากคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ดังนี้ 1.ละเว้นการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ 2. อำนวยความยุติธรรมเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ 3.ทำให้คดีความเป็นไปอย่างรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง บนพื้นฐานเป็นตำรวจของประชาชน เพื่อประชาชน มากกว่าทำงาน เพื่อให้เจ้านายใน สตช.พึงพอใจ ขอเป็นกำลังใจให้ได้ผลจริงจัง เพื่ออานิสงส์แก่ประชาชนคนธรรมดา

“วิชาญ” ชู ก.ตร.ต้องผ่านเลือกตั้ง

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ตำรวจต้องไปขอความช่วยเหลือจากพ่อค้าประชาชนในพื้นที่ จึงเกิดความเกรงใจ สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ จัดเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอกับประชาชน อาจให้อาสาสมัครเข้ามาช่วยงาน และควรเพิ่มสวัสดิการเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้ทำงานอย่างไม่ต้องเกรงใจใคร อีกเรื่องคือโครงสร้างการแต่งตั้งโยกย้าย ที่ผ่านมาคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีแต่ข้าราชการเก่า ที่มักดูแลลูกน้องตัวเอง ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ควรปรับปรุงให้ ก.ตร.มาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง ที่สำคัญไม่ควรให้ตำรวจไปอยู่ภายใต้หน่วยงานใด ควรให้เป็นอิสระจะได้ไม่มีปัญหามีคนเข้ามาครอบงำอีก ไหนๆจะปฏิรูปตำรวจแล้ว ควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ศาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ป.ป.ช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ควรเอามาไว้ในโครงสร้างเดียวกันให้ทำงานสอดคล้องกัน แต่ต้องมีความเป็นอิสระต่อกัน กระบวนการยุติธรรมในบ้านเราถึงจะพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ยะใส” ชี้เดิมพันความคาดหวังสูง

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 36 คน ถือเป็นครั้งแรกที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ ภารกิจ และกรอบเวลาไว้ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะถูกคาดหวังสูงจากประชาชน ที่สำคัญถือเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับต้นที่สังคมอยากเห็น ดังนั้น เดิมพันปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จึงสูงกว่าที่ผ่านมา ถ้าทำไม่สำเร็จเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังได้อีก กรอบเวลาที่เหลือ 8-9 เดือน ไม่น้อยเกินไป จุดที่ต้องจับตาคือกระบวนการทำงาน และการกำหนดประเด็นหรือการตั้งโจทย์พิจารณา เพราะถ้าออกแบบผิด หรือตั้งโจทย์ผิด ก็เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดไปด้วย

เตือนนายจ้างใช้โบรกเกอร์เถื่อน

อีกเรื่อง นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯสั่งการให้กระทรวงแรงงานทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ ในช่วง 180 วันที่ชะลอบทลงโทษนายจ้างและคนต่างด้าว ส่งผลให้นายจ้าง สถานประกอบการ เช่น กลุ่มโรงสี กลุ่มแรงงานเกษตร ขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานเข้ามาใหม่ โดยใช้บริการนายหน้าและโบรกเกอร์ เป็นช่องทางให้กระบวนการนายหน้าอ้างเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ขอยํ้าว่าผู้ที่จะนำเข้าแรงงานได้มี 2 กลุ่ม คือ 1.นายจ้างนำเข้าด้วยตนเอง และ 2.บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน หากหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ หรือสามารถหาลูกจ้างต่างด้าวให้กับนายจ้าง ต้องระวางโทษตามกฎหมาย ปัจจุบันมีผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ 81 แห่งทั่วประเทศ อยู่ในกรุงเทพฯ 38 แห่ง ต่างจังหวัด 43 แห่ง

“วรานนท์” มาแรงโค้งสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงแรงงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 11 ก.ค.นี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน จะเสนอรายชื่อแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน แทน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. โดยมีแคนดิเดตก่อนหน้านี้ อาทิ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แต่ช่วงโค้งสุดท้ายปรากฏมีชื่อนายวรานนท์ ปีติวรรณ เบียดขึ้นมาเป็นตัวเต็ง เพราะ พล.อ.ศิริชัยให้ความไว้วางใจ และถือเป็นลูกหม้อที่เติบโตมาจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ภาพลักษณ์ดีไม่มีเรื่องมัวหมอง บุคลิกตรงไปตรงมา ล่าสุดมีบทบาทเด่นจากการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว จากการที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

เชื่อไร้ปัญหากับคดีที่ฟ้องไปแล้ว

เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า การใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งให้ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บทลงโทษ 4 มาตรา ของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว ที่อาจเกิดข้อขัดข้องในการบังคับใช้ โดยเฉพาะคดีที่ยื่นฟ้องไปแล้วนั้น เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุดมีสำนักงานวิชาการคอยเฝ้า ระวังเรื่องการปฏิบัติอยู่ หากมีกฎหมายออกมาแต่การปฏิบัติยังเข้าใจไม่ตรงกัน สำนักงานวิชาการที่ดูแลเรื่องนี้จะเสนออัยการสูงสุด เพื่อออกหนังสือเวียนชี้แจงแนะแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้องแบบเร่งด่วน ส่วนการออกข้อยกเว้นโทษจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้หาผลประโยชน์หรือไม่นั้น ความตั้งใจของรัฐบาลอยากแก้ปัญหาให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์ของประเทศ ส่วนการหาผลประโยชน์เป็นเรื่องของตัวบุคคล ต้องหาทางแก้ไขอีกทาง

“ดอน” ปัดข่าว “ทรัมป์” ไม่ยกเลิกนัด

ต่อมาช่วงค่ำ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยกเลิกคำเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในการเยือนสหรัฐฯ ว่า ไม่เป็นความจริง ยืนยันการนัดหารือกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศยังคงอยู่ เพียงแต่ยังไม่ลงตัวดี เพราะทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการพบกันครั้งแรกของสองผู้นำจะต้องทำให้เกิดผลสำเร็จที่ดีและสมบูรณ์ จึงต้องเตรียมตัวกันให้ดี เมื่อถามว่ากระแสข่าวอ้างว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ติดประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (จี 20) จึงต้องยกเลิกการพบกันจริงหรือไม่ นายดอนตอบว่า ไม่เป็นความจริง การประชุมจี 20 เป็นกำหนดการในส่วนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ชนกัน