ปชป.ให้ใช้อาวุโส50% ในการเลื่อนตำแหน่ง เพื่อลดการวิ่งเต้นตร.

กก.ปฏิรูปตำรวจเด้งรับสูตรนายกฯ ชี้ทำงานง่ายขึ้น ทั้งเรื่องซื้อขายตำแหน่ง สืบสวน โยกย้าย กระจายอำนาจ ลั่นจะทำให้ ตร.เป็นมืออาชีพ ล้างระบบสีเทา ปชป.ยกมือสาธุขอให้ ทำได้จริง 9 เดือนพลิกโฉมตำรวจ แต่หวั่นเอาเวลามาบีบคั้นตัวเอง “นิพิฏฐ์” เห็นใจตำรวจ ชี้แก้ส่วยต้องทำทั้งระบบ ประชาชนต้องเลิกติดสินบนเจ้าหน้าที่ พท.ระบุประชาชนรู้สึกไม่ดีกับตำรวจเป็นทุนเดิม จี้แก้ปัญหาข่มขู่รีดไถ รับสินบนเป่าคดี พร้อมยกระดับสวัสดิการ กระทุ้งให้ปฏิรูปกองทัพด้วย อย่ายุ่งเกี่ยวการเมือง “บิ๊กบี้” เจรจา รมว. แรงงานพม่า จัดส่งแรงงานแบบจีทูจี ถกหลักเกณฑ์เร่งแก้ไขช่วงผ่อนผัน ก.ม.ต่างด้าว 6 เดือน โพลถูกใจรัฐลุยปราบคอร์รัปชัน แต่ผิดหวังแก้ ศก. อัดงบให้ทหาร ใช้ ม.44 จนเปรอะ

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด เป็นประธาน ได้ทำการประชุมรับมอบนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเดินหน้าปฏิรูปในกรอบเวลา 9 เดือน ตามสูตร 2-3-4 ท่ามกลางการจับตาของสังคม ว่าจะสามารถแก้ปัญหาลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภาพลักษณ์ และการทำงานของตำรวจได้มากน้อยแค่ไหนนั้น

...

กก.ปฏิรูป ตร.เด้งรับสูตรนายกฯ

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ กล่าวถึงสูตรการทำงาน 2-3-4 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายไว้ว่า เหมาะสมเป็นกรอบเวลาที่ชัดเจน คณะกรรมการทั้ง 36 คนมีความตั้งใจและมั่นใจว่าการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ จะเกิดผล สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามที่นายกฯ เสนอ ประเด็นปัญหาที่รับฟังมาจากหลายฝ่ายชัดเจน จะช่วยให้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตัดสินใจได้สะดวกและง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ซื้อขายตำแหน่ง โครงสร้างงานด้านการสืบสวนสอบสวน โอนย้ายภารกิจงานที่ไม่ใช่ของตำรวจโดยตรง กระจายอำนาจตำรวจไปยังท้องถิ่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาตรงประเด็นมากที่สุด ทำให้ตำรวจเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ระบบเทาๆ ที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนต้องไม่มีอีกต่อไป อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอย่าเพิ่งคัดค้าน การปฏิรูปตำรวจ เราจะศึกษาอย่างรอบด้าน ดูผลกระทบที่ตามมา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยวันที่ 12 ก.ค. เวลา 14.00 น. จะประชุมนัดแรก ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

ปชป.สาธุ 9 เดือนพลิกโฉม ตร.ได้

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายกฯ จะใช้สูตร 2-3-4 ปฏิรูปตำรวจให้เสร็จใน 9 เดือนว่า เรื่องนี้ชาวบ้านเรียกร้องมานานมาก จึงถือว่าตรงตามที่พี่น้องต้องการอย่างเเท้จริง หากใครพูดว่าจะยุติการซื้อขายตำแหน่งตำรวจก็เป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ หากทำได้จริงก็ต้องอนุโมทนาสาธุ การให้ตำรวจเลื่อนขึ้นโดยลำดับอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ จะลดการวิ่งเต้นได้ระดับหนึ่ง รวมถึงการให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัดในจำนวนเกินครึ่ง ก็จะช่วยตรวจสอบองค์กรตำรวจในระดับปฏิบัติได้ ดูจากรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ตั้งขึ้นมาเเล้ว หากเอาจริงและกรรมการฝ่ายตำรวจไม่ตีกรรเชียงขัดขวางการปฏิรูปทุกรูปแบบ เชื่อว่าจะสำเร็จใน 9 เดือนได้ ในอดีตมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ เเต่กลับได้นายพลมามากมาย ประเทศไม่ได้ประโยชน์ หวังว่าคงไม่เป็นเช่นนั้นอีก

อย่าเอาเวลามาบีบคั้นตัวเอง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้กำลังใจคณะที่ตั้งขึ้นมาทำเรื่องปฏิรูปตำรวจ แต่จะสำเร็จในระยะเวลา 9 เดือนตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่นั้น อยากให้ศึกษารากเหง้าปัญหาที่สั่งสมมาจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ถ่องแท้ถี่ถ้วน จากนั้นค่อยแก้ให้ตรงจุด เวลาเพียง 9 เดือนใช่ว่าจะทำให้ สตช.เป็นองค์กรในฝันอย่างที่คนต้องการได้ แต่เมื่อตั้งใจทำเเล้วก็ต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างไปสู่เป้าหมาย สิ่งที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตั้งเป้าเวลาไว้ จะไปบีบคณะกรรมการให้ทำงานขาดความรอบคอบ ถ้าให้ดีอย่าไปตั้งอะไรมาบีบคั้น ตัวเอง เพราะถ้าจะหวังผลปฏิรูปตำรวจชั้นเลิศ ต้องใช้เวลามากกว่านั้น ควรจะไปเน้นแก้ให้ตรงจุด เรื่องรีดไขมันตำแหน่งใน สตช. และทำให้ตำรวจภูมิใจในหน้าที่ คำนึงถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมให้ประชาชนมากกว่าเรื่องการเลื่อนขั้นชั้นยศ หรือเงินนอกระบบ เพราะถ้าแก้ผิดจุดหลงประเด็น ต่อให้มากกว่า 9 เดือน ก็ไม่จบ ปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ

“นิพิฏฐ์” ชี้แก้ส่วยต้องรื้อทั้งระบบ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การจะปฏิรูปตำรวจให้ถูกจุด ไม่ใช่เเค่ปรับที่ตำรวจอย่างเดียว แต่ต้องแก้พฤติกรรมของคนในสังคมด้วย ทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ หรือประชาชนเอง ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปตำรวจจะสูญเปล่า การรับส่วยหรือเงินใต้โต๊ะจะไหลไปกองที่องค์กรอื่นให้ต้องตามไปแก้กันอีก ต้องยอมรับว่าคนส่วนหนึ่งในสังคมพร้อมละเมิดกฎหมาย จ่ายเงินซื้อความยุติธรรม จึงต้องปรับวัฒนธรรมคนที่ไปยุ่งเกี่ยวกับความยุติธรรมทั้งระบบ เราคงเคยได้ยินกันว่า มีการตั้งด่านตามท้องถนน ตำรวจจับรถสิบล้อ จับประชาชนไม่สวมหมวกกันน็อก หรือชาวบ้านทำผิดกฎจราจร แต่มีส่วนหนึ่งไม่อยากจ่ายค่าใบสั่ง เช่น จำนวน 200-500 บาท แต่กลับพร้อมจ่ายค่าเลี้ยงดูปูเสื่อ คนที่ไปเอาใบสั่งคืนให้โดยไม่เสียค่าปรับ บางครั้งมากกว่า 1,000 บาท พฤติกรรมแบบนี้เป็นสังคมอำนาจนิยมยกตัวคนเป็นกฎหมาย เห็นไฟแดงกลางคืนก็กล้าฝ่า แต่ถ้ามีจ่ายืนอยู่ก็ไม่กล้าไป กลัวตำรวจแต่ไม่กลัวกฎหมายคือวัฒนธรรมคนไทย ต้องปรับพฤติกรรมคนด้วย ไม่ใช่โทษแค่ตำรวจ

คนต้องเลิก “จ่าย” ตำรวจแลก “ไม่จับ”

“ตราบใดก็ตาม ยังมีผู้ให้อยู่ ก็ต้องมีผู้รับ ถ้าประชาชนไม่จ่าย ตำรวจก็ทุจริตไม่ได้ ต้องปฏิรูปให้ประชาชนเลิกกลัวตำรวจ เข้าถึงตำรวจได้ง่าย ทำให้ชาวบ้านกลัวไฟแดงมากกว่ากลัวจ่าให้ได้ อย่าไปจำนนต่อเรื่องรับส่วย หรือเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการไม่ถูกจับ ต้องหาที่พึ่งให้เขา ตั้งหน่วยงานมาแก้ รับเรื่องร้องเรียนการรับส่วยหรือติดสินบน หาหน่วยงานมาคุ้มครองชาวบ้าน เพราะจะให้ชาวบ้านไปสู้กับตำรวจ เขาก็ไม่กล้า นี่คืออีกเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำจริงจัง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

อย่าลืมปฏิรูปจุดบอดแก้ปากท้อง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลพยายามเร่งปฏิรูปหลายเรื่องขณะนี้ ทั้งปฏิรูปการเมือง หรือปฏิรูปตำรวจ แต่อย่าลืมปัญหาสำคัญอีกเรื่องที่มีต่อเนื่องตลอด 3 ปีของรัฐบาลนี้คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจปากท้อง ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาเศรษฐกิจติดขัดจนชาวบ้านใช้ชีวิตประจำวันอย่างฝืดเคือง แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขด้วยนโยบายต่างๆ แต่ยังไม่ส่งผลถึงประชาชนรากหญ้าได้รู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขอให้รัฐบาลหันมาใส่ใจเรื่องนี้เป็น พิเศษด้วย ต้องทำให้เกิดสภาพคล่องให้ได้

พท.ขอเลิกข่มขู่-รีดไถ-เป่าคดี

ด้านนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการปฏิรูปตำรวจว่า เห็นด้วยที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ จะเร่งแก้ปัญหาซื้อขายตำแหน่ง รวมทั้งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อยากให้ทำจริงไม่ใช่แค่พิธีกรรม เพราะประชาชนมีความรู้สึกไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้ว เมื่อจะปฏิรูปควรทำให้ดี ตำรวจควรเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งของประชาชน สิ่งที่ประชาชนมักวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็คือการรีดไถ การเรียกเก็บส่วย การเรียกรับสินบน การข่มขู่คุกคามประชาชน การเป่าคดี เหล่านี้ล้วนเกิดจากความไม่พร้อมของสวัสดิการตำรวจเอง และปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง จำเป็นต้องเข้าไปดูแลและทำให้หมดไป ที่สำคัญการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ทำเพียงแค่โครงสร้าง ต้องเข้าไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้อยู่ดีมีความสุข มีรายได้ที่เพียงพอด้วย

จี้ปฏิรูปกองทัพอย่ายุ่งการเมือง

นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ คสช.เข้ามาได้เดินหน้าปฏิรูปในหลายด้าน ด้านการเมืองมีการร่างกฎหมายลูกเพื่อปฏิรูปการเมืองอยู่ ด้านการศึกษา และตำรวจก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปฏิรูป แต่เรื่องที่ยังไม่ได้ทำคือการปฏิรูปกองทัพ ปัญหาที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเกิดจากกองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากจะพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ควรต้องปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งกองทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ ต้องปฏิรูปตัวเอง เป็นกองทัพของประชาชน คอยช่วยเหลืองานของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ที่สำคัญควรมุ่งเน้นไปที่งานด้านความมั่นคงอย่างพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีปัญหาอยู่ในวันนี้ ต้องบูรณาการร่วมกันไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ไหนๆจะปฏิรูปประเทศแล้วก็ต้องทำในทุกส่วน ไม่เช่นนั้นปัญหาเดิมๆอาจกลับมาอีก

แนะ “บิ๊กตู่” ทบทวนทำ ปชต.ติดหล่ม

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เรื่องประชาธิปไตยในไทยที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปีแล้ว ก็เข้าใจได้ว่าการที่ประชาธิปไตยของไทยไปไม่ถึงไหน ยังเวียนว่ายอยู่ในวังวนเดิมนั้น เป็นเพราะเหตุใด เพราะใคร คงไม่ใช่เป็นเพราะนักการเมืองที่ทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตนเองอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจและพูดอยู่ฝ่ายเดียว แต่อยากให้ลองหันไปดูรอบด้านตัวเองด้วย เพราะหากประชาธิปไตยจะก้าวไปทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ทุกฝ่ายต้องยึดมั่นในหลักนิติรัฐ และผู้บริหารประเทศต้องมีธรรมาภิบาล รัฐบาลรวมถึงทุกองค์กรต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ การตีความบทบัญญัติของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตรากฎหมายต่างๆ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นจะต้องมีความชัดเจนและแม่นยำ ผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็น ครม.หรือ สนช.ควรพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการไปร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นในขณะนี้ และหวังที่จะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชนคนไทยได้เห็น และแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วย

กรธ.ติดดาบผู้ตรวจฯฟัน ขรก.

นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ภาพรวมการพิจารณามีผู้เห็นต่างบางประเด็น โดย กมธ.ใช้วิธีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน เนื้อหาส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของผู้ตรวจฯ เล็กน้อย เรื่องใหม่ที่เป็นหลักใหญ่คือ การให้ผู้ตรวจฯ มีภารกิจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ติดตามแต่ละส่วนราชการให้ดำเนินการ หากพบหน่วยงานใดฝ่าฝืน ให้ผู้ตรวจฯ แจ้งต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันที ขณะนี้ กมธ.พิจารณาถึงในส่วนบท เฉพาะกาล มีผู้แปรญัตติให้ผู้ตรวจฯ 2 คนให้อยู่ทำหน้าที่ต่อไป แต่ทั้งนี้ คงต้องยึดไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ที่จะต้องหาผู้ตรวจฯเพิ่มอีก 1 คนและพิจารณาคุณสมบัติของ 2 คนที่เหลือว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นไปตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่า คุณสมบัติขององค์กรอิสระคือเรื่องสำคัญ เนื่องจากภารกิจมีความแตกต่างไปจากเดิม

เชื่อไม่ขัดแย้งจนตั้ง กมธ.ร่วม

นายเธียรชัยกล่าวอีกว่า คาดว่ากฎหมายว่าด้วยผู้ตรวจฯจะนำเข้าสู่การประชุมใหญ่ของ สนช.ในวาระ 2-3 ได้ช่วงปลายเดือน ก.ค. เชื่อว่าการพูดคุยทำความเข้าใจกับ กมธ.และสมาชิก สนช.ที่เห็นต่าง จะไม่ต้องตั้ง กมธ.ร่วมเหมือนกฎหมาย กกต.และกฎหมายพรรคการเมือง ส่วนการประชุม กรธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายพรรค การเมืองเข้ามาหารือ ในประเด็นไพรมารีโหวต เพื่อพยายามหาทางออกร่วมกัน ให้การปฏิบัติเกิดความราบรื่นมากที่สุด และปิดช่องการตีความที่อาจเกิดขึ้นภายหลังกฎหมายบังคับใช้ เพราะ กกต.และพรรค การเมืองก็ย่อมมองคนละมุม แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

“ยิ่งลักษณ์” ดิ้นยื่นศาล รธน.ตีความ

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทีมกฎหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าว ที่ผ่านมาตั้งแต่ ก.พ.58 ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ได้มีบทบัญญัติใหม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่ระบุตอนท้ายว่าการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้นําสํานวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้ศาลมีอํานาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ เป็นการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลเพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมาอัยการฝ่ายโจทก์ได้ยื่นบัญชีพยานเอกสารเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ โดยไม่มีการไต่สวนไว้ในรายงาน และสำนวนของ ป.ป.ช. เอกสารบางเรื่องเป็นเอกสารใหม่ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น และไม่ได้อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.มาตั้งแต่ต้น ซึ่งจำเลยได้ร้องคัดค้าน เพราะทำให้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี แต่องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้วยกคำร้อง

ศาลรับพิจารณามีคำสั่ง 21 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า หลังการสืบพยานจำเลยนัดวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านสรุปการพิจารณาคดีโดยแจ้งต่อคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายว่า ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งการพิจารณาคดีของศาลว่าเป็นการขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามมาตรา 235 วรรคหก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จึงได้ขอให้ศาลฎีกาฯส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความโดยองค์คณะฯ ได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งอีกครั้งในนัดหน้า 21 ก.ค.นี้ ว่าจะให้ส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“บิ๊กบี้” เจรจาพม่าส่งแรงงานจีทูจี

ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศผิดกฎหมาย วันเดียวกัน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมระดับรัฐมนตรีร่วมเมียนมา-ไทย ว่าด้วยเรื่องแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่า ฝ่ายไทยนำโดย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้หารือกับนายเต็ง ส่วย รมว.แรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา โดยไทยขอให้เมียนมาดำเนินการ ดังนี้ 1.เร่งรัดการตรวจสัญชาติและออก CI ให้กับแรงงานเมียนมา 2.ขอให้จัดส่งแรงงานเมียนมาในกิจการต่างๆแบบรัฐต่อรัฐ 3.ชี้แจง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงาน 4.ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา แก้ไขปัญหากรณีมีข้อขัดข้องเพื่อให้ทันการดำเนินการใน 6 เดือน ที่ชะลอโทษ โดยต้องยกระดับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ โดยรองปลัดกระทรวงแรงงานตรวจคนเข้าเมืองและประชากร เมียนมาได้รับข้อเสนอของไทยและขอให้ไทยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานได้รับทราบข้อมูลข่าวสารกันอย่างทั่วถึง พร้อมให้การคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้างตามกฎหมายไทย

หารือหลักเกณฑ์ข้อห่วงใยชื่นมื่น

นายวรานนท์กล่าวว่า เมียนมาขอทราบข้อมูลจำนวนแรงงานเมียนมาในไทยว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อประกอบการจัดเตรียมเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ต่างๆ ในการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา และให้ฝ่ายไทยตรวจสอบความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Demand Letter) ของนายจ้างให้ตรงกับความต้องการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้ตรวจสอบเอกสารแรงงานเมียนมาให้ละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันการสวมรอยจ้างแรงงาน นอกจากนี้ ขอให้ไทยมีมาตรการรองรับแรงงานเมียนมาที่เดินทางกลับประเทศช่วงที่ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และจะเดินทางกลับเข้ามาทำงานอีกด้วย ส่วนฝ่ายไทยขอให้เมียนมาจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติบริเวณชายแดนเพื่อออก CI ให้กับแรงงานที่จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้นายจ้างไปรับเข้ามา ซึ่งฝ่ายไทยจะออกวีซ่าและอนุญาตให้ทำงานต่อไป โดยเมียนมารับในหลักการ และขอให้หารือในรายละเอียดร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ รมว.แรงงานกำชับให้ดูแลแรงงานเมียนมาให้เหมือนกับคนไทย การจัดระเบียบแรงงานมีผลดีกับทั้งสองฝ่าย และปัจจุบันความร่วมมือระหว่างกันเป็นรูปธรรมมากขึ้น

โพลตื่นตาตื่นใจรัฐปราบคอร์รัปชัน

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล เผยผลการสำรวจความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการรับรู้ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งบริหารประเทศครบ 3 ปี จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,112 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค.ที่ผ่านมา สรุปว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.32 ระบุพอจะรับรู้ผลงานของรัฐบาลอยู่บ้าง เพราะมีข่าวทุกวัน อันดับ 2 รับรู้อย่างดี ร้อยละ 19.78 เพราะสนใจการเมือง อันดับ 3 ไม่ค่อยรับรู้ ร้อยละ 17.99 เพราะไม่ค่อยติดตามข่าว และอันดับ 4 ไม่รับรู้เลย ร้อยละ 7.91 เพราะไม่สนใจ ไม่ชอบการเมือง สนใจเรื่องปากท้องตนเองมากกว่า ส่วนผลงานรัฐบาลที่ประชาชนรับรู้ อันดับ 1 ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 78.14 อันดับ 2 ลงทะเบียนคนจน ร้อยละ 75.21 อันดับ 3 การพัฒนาระบบคมนาคม รถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 68.93 ส่วนผลงานรัฐบาลที่ประชาชนอยากให้ประชาสัมพันธ์ อันดับ 1 ไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 74.60 อันดับ 2 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกตั้ง ร้อยละ 71.11 อันดับ 3 ปฏิรูปการศึกษา ร้อยละ 70.87

ผลงานแย่แก้ ศก.-ถลุงงบ-ม.44 เปรอะ

สวนดุสิตโพลเผยว่า สำหรับผลงานเด่นของรัฐบาล อันดับ 1 ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 84.38 อันดับ 2 จัดระเบียบสังคม ทวงคืนผืนป่า ร้อยละ 72.19 อันดับ 3 การพัฒนาระบบคมนาคม รถไฟความเร็วสูง ร้อยละ 66.93 ส่วนผลงานแย่ อันดับ 1 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 81.33 อันดับ 2 การใช้งบประมาณทางทหาร กรณีเรือดำน้ำ ร้อยละ 70.04 อันดับ 3 การใช้มาตรา 44 โดยเฉพาะห้ามนั่งท้ายกระบะ ร้อยละ 67.45 ต่อข้อถามถึงภาพรวมผลงานรัฐบาลในความคิดของประชาชน อันดับ 1 ผลงานดีและแย่พอๆกัน ร้อยละ 46.76 อันดับ 2 ผลงานดีมากกว่าผลงานแย่ ร้อยละ 38.49 และอันดับ 3 ผลงานแย่มากกว่าผลงานดี ร้อยละ 14.75

ขอชะลออย่าเพิ่งใช้ไพรมารีโหวต

นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีที่มีชื่อนางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล พี่สาวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ปรากฏขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยว่า ข้อเท็จจริงไม่น่าใช่ เพราะนางมณฑาทิพย์ไม่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคสักครั้งเดียว ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังทำงานให้พรรคเพื่อไทยอยู่ ในอนาคตใครจะมานำพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องรอให้ คสช.ปลดล็อกคำสั่งให้พรรคสามารถประชุมและทำกิจกรรมได้ก่อน ส่วนกรณีที่อดีต สปท.จำนวนหนึ่งลาออก หวังควบรวมพรรคการเมืองพรรคขนาดเล็กเตรียมลงเลือกตั้งนั้น มองว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำได้จริง เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้ทำลายทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่เฉพาะแค่พรรคการเมืองใหญ่อย่างเดียว ยิ่งกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ให้นำระบบไพรมารีโหวตมาใช้ พรรคการเมืองขนาดเล็กจะยิ่งแย่ ต้องใช้ทรัพยากรทั้งคนและเงิน นี่คือการบอนไซ หรือบ่อนทำลายพรรคการเมืองโดยอ้อม ที่แม้แต่ผู้ร่างกฎหมายเองก็อาจจะไม่รู้ตัว พรรคเพื่อไทยไม่ปฏิเสธไพรมารีโหวต แต่หากจะใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปทันที อาจจะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง