"นิพิฏฐ์" หนุน "วิษณุ" ตั้งกรรมการปรองดอง แนะใช้ ม.44 ร่วม ยันต้องตี 2 โจทย์หลักปรับพื้นฐานความเข้าใจ ติงทำช้าดีกว่าไม่ทำ วอนการตั้ง 250 ส.ว.สรรหา อย่าตั้งพวก "ห้อย-โหน" เข้ามา เพราะจะกลายเป็นเชื้อปะทุความขัดแย้งรอบใหม่...

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ระบุถึงการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาตินั้นว่า เรื่องการปรองดองเป็นเรื่องใหญ่มาก ปัญหาบ้านเมืองในอดีตที่ขัดแย้งกันเพราะคนในสังคมไทยยังเข้าใจคำว่าปรองดองต่างกัน เช่น นายกฯ ยังพูดเองว่าการปรองดองไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่บางฝ่ายยังบอกว่าการปรองดองคือ การนิรโทษกรรม ทั้งนี้รัฐบาลคสช.สามารถทำเรื่องนี้ได้ง่ายกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพราะมีอำนาจมาตรา 44 และตนเห็นด้วยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่เริ่มนับหนึ่งเรื่องปรองดอง โดยไม่เอาคู่กรณีขัดแย้งเข้ามาร่วมเป็นกรรมการปรองดอง เพราะถ้าเข้ามาเป็นเรื่องมันไม่จบจะยิ่งขัดแย้งในกรรมการ แต่ให้เชิญคู่กรณีแต่ละฝ่ายมาให้แสดงความเห็น ข้อติดใจให้หมดข้อสงสัยทั้งสีแดง สีเหลือง กปปส. โดยให้กรรมการมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการปกครอง มีคนที่สังคมยอมรับและใช้รูปแบบรับฟังคดีของศาล คือฟังข้อมูลทุกด้านจากทุกฝ่ายให้ครบถ้วนแล้วพิจารณาหาทางออกเพื่อตัดสิน โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งการตัดสินของคณะกรรมการชุดนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย เพราะขณะนี้ประเทศไทยก็ไม่มีความเห็นชอบจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าปัญหาความชัดแย้งของคนในชาติเกิดจาก 2 ประเด็นหลัก คือ 1. มองความยุติธรรมต่างกันจึงเป็นที่มาของการกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติ หรือสองมาตรฐาน ซึ่งสามารถจุดติดทุกครั้ง แม้แต่หลังการเลือกตั้งในอนาคต หากไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกันในสังคมไทย 2. หลักประชาธิปไตย ที่คนในสังคมไทยยังมองต่างกันแบบสุดขั้วจากพื้นฐานของแต่ละคน เช่น พรรคเพื่อไทยเลือกตั้งได้เสียงข้างมากแล้วจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้หรือไม่ หรือหลักที่จะดูแลเฉพาะคนที่เลือกตัวเองก่อน คนไม่เลือกเอาไว้ทีหลัง สามารถใช้หลักนี้ได้หรือไม่ ถือเป็นหน้าที่หลักของกรรมการชุดนี้ที่ต้องสื่อสารกับคนในสังคมไทยให้เข้าใจในหลักประชาธิปไตยตามสากลเพื่อไม่ให้ต้องถกเถียงกันอีก จำเป็นต้องปูพื้นฐานให้คนไทยเข้าใจตรงกัน เพราะแม้จะมีหลักสากลอยู่แล้ว แต่คนยังไม่เชื่อเนื่องจากแบ่งกันเป็นฝักฝ่ายเชื่อผู้นำในฝ่ายของตัวเอง

...

"ถ้าวินาทีแรกคือการยึดอำนาจ วินาทีที่สองคือ เรื่องปรองดอง แต่รัฐบาลเพิ่งเริ่มตอนนี้ยังดีกว่าไม่ทำเลย แม้อาจจะช้าไปเพราะความคิดของคนตกผลึกปัญหานี้ก็ยิ่งแก้ไขยาก คิดว่าคสช.ก็รู้ปัญหานี้จึงมีมาตรการในการส่งต่อบ้านเมืองอยู่ในแผนยุทธศาสตร์บางส่วน ซึ่งมาตรการส่งต่อนี้ต้องใช้อย่างเป็นธรรมที่สุด จึงอยากให้นายกฯ ตั้งคนที่จะมาเป็นส.ว.250 คน จากการสรรหา ควรมีคุณสมบัติจบเปรียญธรรมอย่างน้อย 7-9 ประโยค แต่ถ้าตั้งคนประเภทไอ้ห้อย ไอ้โหนเข้ามาเป็นส.ว.สรรหาก็จะเป็นเชื้อปะทุความขัดแย้งรอบใหม่" นายนิพิฏฐ์ กล่าว.