เป็นข่าวใน หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ วันวาน “กัลฟ์ชนะคดีฟ้อง 4 หน่วยงานรัฐ” ถือเป็น “กรณีตัวอย่าง” ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หน่วยงานรัฐที่แพ้ มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมพลังงานของชาติ คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน กระทรวงพลังงาน และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการดำเนินการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)

ไม่รู้งานนี้จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายตามมาหรือไม่

คดีนี้ เครือบริษัทกัลฟ์ ผู้ชนะการประมูล โรงไฟฟ้าไอพีพีที่ใช้ก๊าซ 2 โรง 5,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2556 ใน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ระยอง และ นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี โดยเสนอราคาตํ่าสุดที่ หน่วยละ 4.2371 บาท ชนะการประมูลทั้ง 2 สัญญารวม 5,000 เมกะวัตต์ และมีการลงนามในสัญญากับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไปเรียบร้อยแล้ว

เครือกัลฟ์จะต้องทยอยส่งไฟฟ้าเข้าระบบปีละ 1,250 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP)

เมื่อเกิดการปฏิวัติปี 2557 โครงการนี้ถูก คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) หยิบยกขึ้นมา ตรวจสอบ กระทรวงพลังงาน ก็ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่ก็ไม่มี ข้อสรุป จนกระทั่ง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีพลังงาน ก็มีการเจรจาให้ลดสัญญาผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ลงมา แต่เครือกัลฟ์ก็ไม่ยอม ก็เลยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น

ไปอ่านคำพิพากษาของ ศาลปกครองกลาง ดีกว่าครับ ชัดเจนดี

สำนักข่าวอิศรา สรุปคำพิพากษาของ ศาลปกครองกลาง ว่า กรณี ที่ คตร. ตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว โดยให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับ กิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินการนั้น สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบขององค์กรทางปกครอง แต่ต้องไม่ทำให้เครือกัลฟ์เสียหาย

...

กรณีนี้ กระทรวงพลังงาน มีหนังสือไปถึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ชะลอการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนแก่ “เครือกัลฟ์” จนข่าวรั่วไปถึง ธนาคารไทยพาณิชย์ และไม่ให้ปล่อย
กู้เงินแก่เครือกัลฟ์ จึงทำให้เกิดความเสียหาย

ศาลปกครองกลาง จึงมีคำพิพากษา ห้ามกระทรวงพลังงาน ตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีอันใด อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครือกัลฟ์ รวมทั้ง ห้ามนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าวไปใช้ หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายใน หรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และ ให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยัง BOI เกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับเครือกัลฟ์

คดีนี้ต้องถือเป็น “คดีตัวอย่าง” เลยทีเดียว แผนผลิตไฟฟ้าไทย มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา แผนเดิมให้ใช้ก๊าซธรรมชาติ พอประมูลเซ็นสัญญาเสร็จ เกิดอยากเปลี่ยนไปใช้ “ถ่านหิน” และ “ลดใช้ก๊าซธรรมชาติ” ก็ไปเจรจาต่อรองกับ เครือกัลฟ์ ให้คืนสัญญา โรงไฟฟ้า 1 โรง เพื่อเปลี่ยนไปผลิตไฟฟ้าด้วย “ถ่านหิน” แต่เครือกัลฟ์ไม่ยอม ถือว่าชนะการประมูลมาด้วยราคาตํ่าสุด และคู่แข่งก็ไม่มีใครค้าน

น่าแปลกที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หันมาผลักดัน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ในช่วงนี้ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขณะที่โลกหันไปหา “พลังงานสะอาด” กันหมดแล้ว

สองวันก่อนมหาเศรษฐีโลก บิล เกตส์ ไมโครซอฟท์ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เฟซบุ๊ก แจ็ค หม่า อาลีบาบา มาซาโยชิ ซัน ซอฟท์แบงก์ ลงขันกัน 1,000 ล้านเหรียญ ก่อตั้ง เบรคทรู เอ็นเนอจี เวนเจอร์ส เพื่อลงทุนใน “พลังงานสะอาด” รัฐบาลก็กำลังไป “ไทยแลนด์ 4.0” แต่การไฟฟ้าไทยจะย้อนกลับไปหา “โรงไฟฟ้ายุค 1.0” กันอีกหรือ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”