"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" มีมติเอกฉันท์ ส่งศาล รธน.ตีความ ม. 61 วรรคสอง ก.ม.ประชามติ ชี้เนื้อหาคลุมเครือ หวั่นกระทบสิทธิ ปชช. เตรียมส่งสัปดาห์นี้

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.59 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของ นายจอน อึ๊งภากรณ์  ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง, สามและสี่ ขัดรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) หรือไม่

โดย นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มี นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุม ว่าที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามที่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ขอให้วินิจฉัยโดยจะมีการเสนอเรื่อง พร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้ โดยในความเห็นของผู้ตรวจนั้น มองว่าการที่มาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น แม้จะมีพจนานุกรม ระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็จะมีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และอาจมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน

...

"ถึงแม้สุดท้ายแล้ว ศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย แต่ระหว่างที่ถูกดำเนินการ ก็ต้องถือว่าประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว ซึ่งโทษตามกฎหมายดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา การดำเนินการทางคดีอาญาผู้ตรวจก็เห็นว่าจะต้องมีความชัดเจน หากไม่ชัดเจนก็จะขัดต่อหลักการพิจารณาคดีทางอาญา และที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อย" นายรักษเกชา กล่าว

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการปลุกระดม หรือใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกินขอบเขตหรือไม่ นายรักษเกชา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะดูแล ซึ่งในการออกเสียงประชามติปี 50 กฎหมายประชามติขณะนั้นก็ไม่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้แต่ก็สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้ เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดินยังกล่าวอีกว่า ส่วนวรรคสามและวรรคสี่ ของพ.ร.บ.ประชามติที่ทางไอลอว์ได้เสนอให้วินิจฉัยด้วยนั้น ผู้ตรวจเห็นว่า เป็นดุลยพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นบทลงโทษที่อยู่ในดุลยพินิจของศาลยุติธรรม จึงไม่ก้าวล่วง