"คลองดำเนินสะดวก ทางการจ้างชาวจีนมาขุดเมื่อเสร็จงานชาวจีนจึงอาศัยพื้นที่ริมคลองทำมาหากิน ทำให้มีคนไทยเชื้อสายจีนมาก" นายสุวรรณบอก

นายสุวรรณ พันศิริพัฒน์ อายุ 59 ปี เลขานุการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มฟื้นฟูตลาดน้ำดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี บอกรากฐานการก่อสร้างชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนของดำเนินสะดวก



แก้ว


ก่อนประกาศเจตนาฟื้นตลาดน้ำดำเนินสะดวกว่า บริเวณปากคลองลัดพลี เป็นตลาดน้ำแห่งแรกของดำเนินสะดวก การชุบชีวิตตลาดครั้งนี้ ไม่ฝันว่าจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเก่าก่อน แต่จะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ชาวบ้านได้มีงานทำ มีรายได้

สถานที่ตั้งตลาดแห่งนี้ อยู่ปากคลองลัดพลี ตั้งอยู่ทิศเหนือของคลองดำเนินสะดวก ทางเข้าอยู่ด้านทิศตะวันตกของตลาดดำเนินสะดวก ถ้าใช้ถนนเพชรเกษม ผ่านอำเภอบางแพเข้ามา ต้องกลับรถใต้สะพาน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไป ปากทางเข้ามีป้ายบอกชัดเจน



สุวรรณ

ตลาดน้ำแห่งแรกและดั้งเดิม ทำไมถึงซบเซาไป

นายแก้ว ปลั่งแสงไพฑูรย์ อายุ 69 ปี ประธานกลุ่มบอกว่า สาเหตุมาจากทางการตัดถนนเข้าที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวก ประกอบกับมีนายทุนที่ทำการตลาดเก่งเข้ามาสัมปทานที่ดินแห่งใหม่ใกล้ๆ กับตลาดเดิม จึงดึงความสนใจและแม่ค้าไปที่แห่งใหม่

"เมื่อฝรั่งลงมากๆ แม่ค้าก็ย้ายไปขายที่แห่งใหม่" นายสุวรรณเสริม



ศิริชัย


กลิ่นน้ำเงินอันหอมหวน ทำให้แม่ค้าย้ายถิ่นเข้าไปขายที่แห่งใหม่ ตลาดเก่าแก่ ดั้งเดิมที่ชาวโลกรู้จักจึงค่อยๆ ซบเซาลง จนกระทั่งร้างราไปอย่างเงียบเหงา

ย้อนไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2510 นายแก้วบอกว่า ตลาดน้ำคลองลัดพลีเต็มไปด้วยพ่อค้า แม่ขาย เรือรายเรียงกันยาวเหยียด ชาวบ้านในตำบลต่างๆ ทั้งในอำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียงจะมาเที่ยว มาซื้อข้าว ของแทบทั้งวัน

"ลองดูสิ" นายแก้วชี้มือไปยังห้องแถวริมน้ำยาวเหยียด ส่วนใหญ่ปิดเงียบ "ทุกห้องเมื่อก่อนเปิดขายของกันทั้งนั้น ใกล้ๆ นี่มีร้านทองทั้งหมด 5 ร้าน พอรถมา เรือก็ลดความหมายลงไป"

เท่ากับ เส้นทางคมนาคมเปลี่ยน ชะตาชีวิตตลาดเก่าก็เปลี่ยน

ตลาดร้างมานานปี การชุบอดีตให้ไหวเต้นขึ้นมาอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะว่าตลาดน้ำดำเนินที่นักธุรกิจต่างถิ่นมาทำอยู่ในปัจจุบัน มีความเข้มแข็งด้านการตลาด และเป็นที่รับรู้ของชาวโลกไปแล้ว

แต่นายสุวรรณไม่สนว่า ตลาดใกล้ๆ กันจะเป็นอย่างไร หลอมใจกับชาวบ้านอาศัยความจริงใจในการทำงาน และเล็งเห็นว่าตลาดเก่าแห่งนี้ ยังมีเสน่ห์ให้หลงใหลอีกมากมาย พร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัส

เป็นต้นว่า พิพิธภัณฑ์วิถีชาวบ้าน ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร ภายในมีเครื่องมือทำทอง เครื่องมือทำสวน และข้าวของต่างๆ ที่ชาวบ้านใช้ "เรายังได้ของมาไม่มากนัก แต่ไม่นานคงได้จัดให้เป็นระบบมากกว่านี้" นายสุวรรณบอก

เตะตาที่สุดในพิพิธภัณฑ์ก็คือ ภาพขนาดใหญ่กว่าตัวจริงของราชาเพลงลูกทุ่ง สุรพล สมบัติเจริญ เจ้าของเสียงเพลง ดำเนินจ๋า "สุรพลเป็นคนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักดำเนินสะดวก เราจึงนำภาพมาจัดวางไว้ แฟนเพลงของสุรพลที่นี่มีมากนะครับ"

นายแก้วอธิบายเสน่ห์ของตลาดต่อไปว่า "เราเน้นธรรมชาติ วิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวบ้านทั้งเรือกสวน บ้านโบราณ ชีวิตความเป็นอยู่ เมื่อมาถึงแล้ว คุณบอกได้เลยว่ามีเวลาเท่าไร ต้องการล่องเรือชมอะไรบ้าง เวลาน้อยหรือมากเราจัดให้ทั้งนั้น ไม่มีการมาบังคับกัน"

สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดเก่าปากคลองลัดพลี นายแก้วบอกว่าไม่ได้มีแค่ตลาดน้ำ มาถึงก็ซื้อของแล้วกลับบ้านเท่านั้น แต่ยังมีกลิ่นอายอดีตที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่โดดเด่นก็คือบ้านมหาดเล็กฮวด

เรื่องราวของมหาดเล็กฮวด พระนิพนธ์ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า "เจ้าเจ๊กฮวดลูกยายผึ้ง อายุราว 20 ปี มาช่วยยกสำรับคับค้อนขณะเมื่อพวกเรากินเลี้ยง เจ๊กฮวดมันนั่งดูๆ พระเจ้าอยู่หัว ประเดี๋ยวมันก็เอ่ยออกมา คล้ายรูปที่เขาตั้งไว้บูชา พอประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นนั่งยองๆ เอาผ้าปูกราบ"


เหตุการณ์ที่ยกมา เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2447

พระเจ้าอยู่หัวคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ๊กฮวดนั้นคือ นายฮวด แซ่เล้า หลังจากวันนั้น เจ๊กฮวดชาวสวนดำเนินสะดวก ได้เข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ชาวบ้านเรียกกันว่า มหาดเล็กฮวด

ปัจจุบันบ้านเจ๊กฮวดยังอยู่ นายศิริชัย น้อยประเสริฐ เป็นผู้ดูแล

"ใครจะมาเยี่ยมเยือน เราไม่ได้ว่า แม้จะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย แต่เราก็เปิดรับ คนที่มาชื่นชมบารมีก๋ง ที่ทำคุณงามความดีไว้" นายศิริชัยบอก

หน้าบ้านมหาดเล็กฮวด มีป้ายอักษรสีทอง ตัวโตๆ ข้อความว่า "เล้า ฮวด เส็ง" แปลว่า ฮวด แซ่เล้า ป้ายนี้รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ ทั่วประเทศมีเพียง 7 ป้ายเท่านั้น



ภายในบ้าน ศิริชัยยังถนอมบริเวณรัชกาลที่ 5 ประทับนั่ง โดยนำเอาโต๊ะหมู่บูชามาวางไว้ เพื่อป้องกันมิให้คนเดินเหยียบย่ำ และมีข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ ของเจ๊กฮวดเก็บไว้พอสมควร


ของชิ้นสำคัญคือ  ถ้วย  ชาม  สมัยรัชกาลที่  5  เสด็จมาเสวยพระกระยาหาร

บ้านมหาดเล็กฮวด ศิริชัยบอกว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาสอบถามเหมือนกัน แต่ทุกหน่วยงานก็เงียบหายไป พร้อมมีเสียงแว่วๆ ว่าไม่มีงบประมาณ "เราไม่ได้เรียกร้องอะไร เมื่อปลายปีที่แล้วกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวก็มาดู และขอทำ เราอนุญาตไป แต่ก็เห็นเงียบไป"

แม้จะไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานใด บ้านเจ๊กฮวด ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวตลาดน้ำ ที่ต้องการชมร่องรอยอดีตสมัย

ตลาดน้ำปากคลองลัดพลี อยู่ฝั่งเหนือคลองดำเนินสะดวก มีคลองซอยเล็กๆ เข้าไปมากมาย นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือพายเข้าไปในเรือกสวน เลียบไปตามตลาดห้องแถวยาวเหยียด หรือจะเดินเลาะไปหน้าห้องแถวที่หันหน้าเข้าหาลำคลองก็ได้

การชุบชีวิต ตลาดน้ำ ปากคลองลัดพลี นายแก้วบอกว่า ช่วงนี้เปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายวันบริการออกไป ใครที่ไปถึงยามเช้า จะได้ใส่บาตรพระภิกษุสงฆ์ ชมตลาดน้ำยามเช้า ล่องเรือชมสวน และวิถีชีวิตชาวบ้านตามอัธยาศัย

"เราจัดเตรียมห้องน้ำ ที่จอดรถไว้พร้อมแล้ว ที่จอดรถเรามีไว้น้อยกว่า 4-500 คัน และที่สำคัญเราให้บริการฟรี ไม่ใช่ว่าปล้นกันตั้งแต่ยังไม่เห็นอะไรเลย" นายแก้วบอก

สำหรับ ความร่วมมือจากจังหวัดราชบุรี วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ นายแก้วบอกว่าบริเวณตลาดเก่าจะมีงาน วิวาห์ไทย-จีน ทั้งหมด 15 คู่ "เราจะเริ่มตั้งแต่คืนศุกร์ที่ 5 เป็นวันสุกดิบ เช้าวันเสาร์ที่ 6 ถึงจะแต่งจริง พร้อมกันนั้น เราก็มีการแสดงแสง สี เสียง งานนี้เท่ากับเป็นการนำร่องในการปลุกตลาดให้ฟื้นคืนชีพ" นายสุวรรณเสริม

คู่บ่าวสาวนั้น คนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวราชบุรี และมีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมด้วยเหมือนกัน การจัดงานวิวาห์ "ปีต่อๆ ไป เรามีแนวโน้มว่าจะทำ แต่ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสม" นายสุวรรณบอก

เสน่ห์ตลาดน้ำดำเนิน  ปากคลองลัดพลี  เมื่อ  "บุญพาพี่มาเจอ"  แล้ว  จะบอกว่า  "สวยบาดตาบาดใจ"  และลงมติใจว่า  "พี่รักเจ้าเท่าชีวี" หรือไม่

เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง.

...