กรุงเทพโพลล์ ปชช. 37.6% หนุนร่าง รธน.แต่อยากให้แก้บางส่วน ชี้หากเลื่อน ลต.ออกจากโรดแม็ปเดิม จะกระทบความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ส่วนประเด็นนายกฯ คนนอก ต้องได้เสียงโหวตจากสภา 2 ใน 3 เห็นด้วย 48% และไม่เห็นด้วย 44.5%…

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 58 กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,102 คน เรื่อง "รัฐธรรมนูญ กับการปฏิรูปประเทศ" โดยความเห็นต่อภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 23.7 เห็นด้วยทั้งฉบับ ร้อยละ 37.6 เห็นด้วยแต่อยากให้มีการแก้ไขบางส่วน ร้อยละ 09.2 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 29.5 ไม่แน่ใจ

ประเด็นที่อยากให้มีการแก้ไขมากที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง) พบว่า ร้อยละ 25.0 ที่มาของ ส.ว. ที่อยากให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ร้อยละ 17.1 ที่มาของนายกฯ ควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น นายกฯ คนนอกควรเป็นเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ร้อยละ 11.6 การกำหนดบทลงโทษนักการเมืองที่คอร์รัปชันให้หนัก และมีข้อบังคับนักการเมืองเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 09.2 ด้านสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชน ตลอดจนการแสดงความคิดเห็น โดยให้ประชาชนรู้สึกว่ามีสิทธิในประชาธิปไตยมากกว่านี้ ร้อยละ 05.5 ด้านการปฏิรูปการศึกษา ระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก

ส่วนความเห็นที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่สามารถมีนายกฯ คนนอกได้โดยต้องได้รับเสียงโหวตจากในสภา 2 ใน 3 พบว่า ร้อยละ 48.0 เห็นด้วย ร้อยละ 44.5 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 07.5 ไม่แน่ใจ ขณะที่ความมั่นใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าจะช่วยให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ โดยร้อยละ 40.4 มั่นใจ ร้อยละ 59.6 ไม่มั่นใจ

...

ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยใดมากกว่ากันระหว่างผู้นำประเทศกับความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญ พบว่า ร้อยละ 50.4 ผู้นำประเทศสำคัญกว่า ร้อยละ 40.8 ความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญสำคัญกว่า ร้อยละ 08.8 ไม่แน่ใจ

ประเด็นการสืบทอดเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศ จำเป็นหรือไม่ที่รัฐธรรมนูญจะต้องบัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปฯ เพื่อเสนอแนะนโยบายต่อรัฐสภา นายกฯและคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 72.8 จำเป็น ร้อยละ 17.8 ไม่จำเป็น ร้อยละ 09.4 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามว่า หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกจากโรดแม็ปเดิม จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศหรือไม่ ร้อยละ 59.7 ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ร้อยละ 33.9 ไม่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ร้อยละ 06.4 ไม่แน่ใจ.