สมาคมรัฐศาสตร์ มก. ตั้งฉายาการเมืองปี 56 รัฐบาล “ลิ้มไพร่” กปปส. “ผีบุญ ร.ศ.232” รัฐสภา โรงเตี๊ยม ตุลาการเป็น “ศาลใครฟัง” ด้านกองทัพ “เสธ.รอสอย” ขณะที่ “สุดซอย” เป็นวาทะแห่งปี...

เมื่อเวลา 14.00 น. สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลง “ฉายาสถาบันการเมือง” โดยนายนพพล อัคฮาค ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมตั้งฉายาสถาบันทางการเมือง ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ.2556 ทั้งนี้ การตั้งฉายาสถาบันการเมืองดังกล่าวมาจากการเปิดให้สมาชิกเครือข่ายออนไลน์ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำนวน 2,844 บัญชี ได้เสนอความเห็นฉายาต่างๆ มายังสมาคม และให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฉายาที่มีความเหมาะสมที่สุด โดยฉายาที่ได้รับการคัดเลือกมีดังนี้

1. ฉายารัฐบาล “ลิ้มไพร่” ซึ่งคำว่าลิ้ม ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณทิตยสถาน แปลว่า กิริยาอิงแอบแนบชิด บิดเบือน มีความหมายว่า รัฐบาลนี้มาแนบชิดไพร่ โดยการสร้างวาทกรรม “ไพร่” ขึ้นมา แต่พอมาเป็นรัฐบาลจริงๆ การอ้างประโยชน์พี่น้องประชาชนในการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างๆ เกิดคำถามว่าสุดท้ายชิ้นปลามันกลับตกไปอยู่กับชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าว รถคันแรก หรือบ้านหลังแรก โดยกรณีที่ถูกต่อต้านมากที่สุดคือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ตั้งต้นจากการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแต่ลงท้ายด้วยการจับเขาเหล่านั้นเป็นตัวประกันพ่วงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามา ซ้ำยังลอยแพผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกไปด้วย  

2. กปปส. ฉายา “ผีบุญ ร.ศ. 232” หมายถึง กบฏหมายถึงกลุ่มคนที่คิดและกระทำการต่อต้านล้มล้างอำนาจรัฐด้วยกำลัง ต่างจากผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาที่อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ ทำการชักชวนให้ผู้คนก่อกบฏกับรัฐที่เป็นศูนย์กลางอำนาจ การสร้างวาทกรรมคนดี คนมีคุณภาพ มีสติปัญญา ต่อต้านคนโกง เหนือกว่าคนไร้คุณภาพ ขาดสติปัญญาของ กปปส. เพื่อล้มล้างอำนาจรัฐ จนถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นกบฏ จึงอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเกินกว่ากบฏ แต่เข้าข่ายผีบุญ ร.ศ.232

3. รัฐสภา ฉายา “โรงเตี๊ยม” หมายถึง ความวุ่นวายหลายครั้ง ในรัฐสภาอันทรงเกียรติถึงขนาด ส.ส. ทุ่มเก้าอี้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน เช่นเดียวกับโรงเตี๊ยม ในภาพยนตร์จีนอันเป็นที่รวมของเหล่าจอมยุทธ์จากทุกสารทิศ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดการต่อสู้ ห้ำหั่นอย่างดุเดือด ประตู หน้าต่าง โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามรามไหพังระเนระนาด ก่อนจะแยกย้ายกันไปโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ

4. ตุลาการ ฉายา “ศาลใครฟัง” หมายถึง การแถลงไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งวุฒิสภา โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 1 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 พร้อมสมาชิกรัฐสภา รวม 312 คน เมื่อวันอังคารที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติศรัทธาอย่างถึงแก่นต่อสถาบันตุลาการที่ควรจะได้รับการยอมรับว่าเที่ยงธรรม เช่นเดียวกับ ''ศาลไคฟง'' แต่กลับถูกตั้งข้อสงสัยและกลายมาเป็น ”ศาลใครฟัง” ในปัจจุบัน

5. พรรคเพื่อไทย ฉายา “ปลากระป๋องชาวคอย” หมายถึง ปัญหาประการสำคัญภายในของพรรคเพื่อไทยรอบปีที่ผ่านมาคือจำนวนสมาชิกที่มีมากเกินกว่าความสามารถในการจัดสรรผลประโยชน์ทั้งในรูปของตำแหน่งรัฐมนตรีและการส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.2557 ทั้งรัฐมนตรีและผู้สมัครรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 แกนนำ นปช. บุคลากรทางการเมืองภายในพรรค ตลอดจนนักการเมืองหัวคะแนนในท้องถิ่น ต่างรอคอยการตัดสินใจจากผู้บริหารพรรคอยู่กันแน่นจนเป็นปลากระป๋องในน้ำซอสสีแดง

6. พรรคประชาธิปัตย์ ฉายา “จอมมารต้านโกง” แปลว่า เบื้องหลังสารพัดการรณรงค์ต้านโกงของพรรคประชาธิปัตย์กลับเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยต่อความไม่โกงของผู้รณรงค์เสียเอง ว่าแท้ที่จริงแล้วพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยมีบาดแผลจากโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ ไทยเข้มแข็ง ส.ป.ก. 4-01 ปรส. นมโรงเรียน เครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 คือนักบุญผู้มาปลดปล่อยประเทศจากการทุจริต แค่คนธรรมดาที่มีกิเลสตัณหาหรือถึงขั้นจอมมารจำแลงมากันแน่

7. พรรคภูมิใจไทย ฉายา “ถ่านไฟเก่า” หมายถึง ภายหลังการสลายตัวของกลุ่มทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดียุบพรรคไทยรักไทยและเกิดการรวมตัวกันใหม่ของกลุ่มเพื่อนเนวินและกลุ่มมัชฌิมาในนามภูมิใจไทย แม้สถานะตามกฎหมายถือเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ท่าทีของพรรคตลอดปีที่ผ่านมากลับให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างชััดแจ้ง เป็นทางการและกลุ่มมัชฌิมาประกาศลาออกจากพรรคภูมิใจไทย และสมัครเข้าเป็น สมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา

8. องค์กรอิสระ ฉายา “พระอันดับ” หมายถึง ในรอบปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถแสดงบทบาทของตนได้อย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงตัวประกอบให้ครบตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เปรียบเทียบกับพระอันดับที่ไม่มีบทบาทสำคัญในการทำพิธีทางศาสนา

9. กองทัพ ฉายา “เสธ.รอสอย” หมายถึง แม้ในรอบปีที่ผ่านมาจะมีผู้เรียกร้องและสร้างเงื่อนไขให้กองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมือง อันอาจส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่กองทัพก็ยังพยายามสงวนท่าทีให้อยู่ในระยะที่เหมาะสมด้วยความหวาดระแวงอย่างยิ่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้สนับสนุนว่า “เสธ.” ที่ “รอสอย” อยู่ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้จะตัดสินใจละเมิดหลักการของระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหรือไม่

10. ตำรวจ ฉายา “โปลิศกิจป่วน” หมายถึง ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับกองทัพ ตำรวจเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปั่นป่วนอันเกิดจากการชุมนุมต่อต้าน กระทั่งขับไล่รัฐบาลในนาม กปปส. ที่ต้องระดมสรรพกำลังจากกองบัญชาการต่างๆ เข้ามาผลัดเปลี่ยนการปฏิบัติภารกิจซึ่งรับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้

นายนพพล กล่าวว่า สำหรับวาทะแห่งปี คือ สุดซอย มาจากคำวิเศษณ์ที่ขยายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่าเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หรือหมายถึงเอาให้เต็มที่ ถือเป็นหน้าใหม่ของวัฒนธรรมการเมืองไทย ซึ่งที่แล้วมามักเน้นแนวทางการประนีประนอมเป็นสำคัญ.

...