กระทรวงการคลัง โดย พิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เสนอ ครม. ขออนุมัติวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยหนี้สาธารณะ สาเหตุคงจะมาจากกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจอีก 5 แสนล้าน แต่เพดานหนี้สาธารณะสามารถที่จะกู้เงินได้อีกแค่ 5 พันล้าน จึงจำเป็นต้องเสนอวิธีการหรือขยายเพดานหนี้ออกไปอีก ส่วนจะกู้เงินเอามาทำอะไรบ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์สงครามการค้าโลก เชื่อว่าคลังก็ยัง อธิบายอะไรไม่ได้ชัดเจนเพราะอีก 90 วันที่เป็นเส้นตายการประกาศ ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯถึงจะมีผลที่ชัดเจน

สหรัฐฯกับจีน ไปหารือกันอย่างเป็นทางการที่ เจนีวา สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราว โดยการลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองประเทศมีการประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันทันทีมากกว่า 100% สหรัฐฯลดให้จีนเหลือ 30% ในขณะที่จีนก็ลดให้สหรัฐฯเหลือ 10% การที่สหรัฐฯ ส่ง สกอตต์ เบสเซนต์ รมว.คลัง และผู้แทนการค้าไปคุยกับรองนายกฯจีน เท่ากับว่าทั้งสองประเทศตกลงการค้ากันได้ในเบื้องต้นเรียบร้อย

ทั้งจีนและสหรัฐฯได้อานิสงส์ไปเต็มๆ

ส่วนประเทศไทยที่พยายามวิ่งหาพันธมิตรทางการค้า ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากการถูกสหรัฐฯเพิ่มภาษีนำเข้า 36% ข้อเสนอต่างๆ เช่น การกวาดล้างการสวมสิทธิทางการค้า ค้างเติ่ง ที่แน่ๆคืออุตสาหกรรมจากจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานหรือสวมสิทธิในบ้านเรามีปัญหาแน่นอน เท่ากับเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาสองเด้ง โดยไม่จำเป็น

ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเป็นดินพอกหางหมูเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ มองเศรษฐกิจไทยเวลานี้ เป็นตัว V ขากว้าง มีผลในระยะยาว แต่ไม่ต่ำสุดเท่ากับต้มยำกุ้ง และวิกฤติค่าเงินบาท ควรใช้มาตรการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่าจะไปหว่านใช้มาตรการปูพรม อาทิ การแจกเงิน หรือการกู้เงินมา สนับสนุนภาคการเกษตร การสร้างแหล่งน้ำตามข้อเสนอของ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน

...

“เศรษฐกิจของไทยมีความไม่แน่นอนสูงมาก มองไปข้างหน้า พายุกำลังจะมาถึง มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้มีการ ชะลอการลงทุน ภาคการผลิตและห่วงโซ่อุปทานธุรกิจ ในระยะยาว จากที่เศรษฐกิจไทยมีการส่งออกไปสหรัฐฯสัดส่วน 2.2% ต่อจีดีพี ไม่ว่าผลของการเจรจาจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอยู่ดี ซึ่งคงไม่ต่ำกว่า 10% แน่นอน”

กระสุนทั้งนโยบายและการคลังจำกัด จำเป็นที่จะต้องใช้ความระมัดระวังในการรับมือกับ วิกฤติสงครามการค้า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องหวังผลได้จริง ในด้านความคุ้มค่าและประสิทธิผล ไม่ใช่แค่มาตรการด้านภาษี แต่รัฐบาลต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อรับมือกับสินค้าต่างๆที่จะทะลักเข้าไทยและการลงทุนที่มีผลทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ที่คาบลูกคาบดอก เดินหมากผิดตาเดียว ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th 

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม