จากสถานการณ์การเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทั้งระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง หรือกระทั่ง สว.กับฝ่ายรัฐบาล ต่างเปิดนิติสงครามยื่นร้องต่อองค์กรอิสระ ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเอาผิดฝ่ายตรงข้าม
วันก่อนศาลรัฐธรรมนูญได้จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญ ครบ 27 ปี หัวข้อ “ศาลรัฐธรรมนูญกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 บทบาทและความคาดหวัง” มีนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานพิธีเปิด โดยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมสัมมนา
ในโอกาสนี้ นายนครินทร์กล่าวเปิดใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญตั้งมา 27 ปี เป็นศาลพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด มีระเบียบวิธีพิจารณาคดีที่ชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้โดดเดี่ยว อยู่ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้ง ครม. รัฐสภา องค์กรอิสระ ที่ยื่นเรื่องมา แสดงว่ามีความเชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ได้ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่มีการมองว่าเป็นองค์กรที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือล้มล้างรัฐบาลนั้น การที่องค์กรต่างๆมีปัญหากันเองและแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องหาองค์กรภายนอกมาช่วย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถช่วยได้ก็มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบางคนที่มายื่นเรื่องก็มักใช้วิธีขู่ว่าจะยื่นศาล
แต่ศาลจะพิจารณาด้วยความระมัดระวังรอบคอบ ดูว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นร้องหรือไม่ หรือศาลมีอำนาจที่จะตัดสินเรื่องนั้นหรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะไม่ยื่นมือไปเกี่ยวข้อง ซึ่งการตัดสินคดีการเมือง ชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากหน้าที่ ความหนักใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาล ถือเป็นหน้าที่เสริมเท่านั้น
...
สำหรับเสียงวิจารณ์ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการเมืองแทรกแซง นายนครินทร์ระบุว่า ถ้าหากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ ที่ปัจจุบันกำหนดให้การสรรหาและเห็นชอบต้องผ่านวุฒิสภา ซึ่งก็ไม่ขัดข้องหากจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา แต่ควรจะมีองค์กรให้การรับรองหลังจากกรรมการสรรหาได้ลงมติแล้ว
ซึ่งตรงกับบริบทที่วุฒิสภาโดนการเมืองแทรก โยงถึงการสรรหาองค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจชี้ขาดความชอบด้วยกฎหมาย ชี้เป็นชี้ตายให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นหน้าที่ ดังนั้นกรณีที่มา จึงไม่ควรให้อยู่ภายใต้ขุมข่ายการเมือง ซึ่งมีทางออกเดียว ก็คือแก้ไขกติกาการได้มาให้ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม