ปั่นป่วนไปทั่วโลก หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กดปุ่มขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ จากทุกประเทศขั้นต่ำ 10% โดยแต่ละประเทศถูกปรับเพิ่มภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ตามการคำนวณดุลการค้าที่สหรัฐฯเสียเปรียบและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเก็บจากไทยเพิ่ม 36% ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.นี้เป็นต้นไป

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯครั้งนี้ โดยชี้ว่ารัฐบาลไทยพร้อมจะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปรับดุลการค้าให้เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย โดยให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เป็นประธาน ร่วมกับภาคเอกชนเตรียมข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) ระบุ กลุ่มอุตสาหกรรมสังกัด ส.อ.ท. ได้หารือถึงผลกระทบการขึ้นภาษีสูงถึง 36% ของสหรัฐฯ คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะเสียหายสูงถึง 8–9 แสนล้านบาท และได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหารือมาตรการรับมือและการเจรจากับสหรัฐฯ

โดยพิจารณาในการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐฯ เปิดให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯมากขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยภาครัฐต้องเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯอย่างเร่งด่วน และไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้า แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และออกมาตรการป้องกันการทุ่มตลาด

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง สำทับว่า จากการหารือกับภาคเอกชนมองว่าสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า เพื่อส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อลดการเสียเปรียบทางการค้า โดยรัฐบาลจะทำให้สัดส่วนการได้เปรียบดุลการค้าไทยลดลง ทดแทนการนำเข้าจากประเทศอื่น เพื่อยังคงรักษาการส่งออกไว้

รวมทั้งจะมีการทบทวนภาษี และมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไทยมีการออกมาตรการเหล่านี้มากีดกันสินค้าบางประเภทเพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตในประเทศ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ที่ตั้งภาษีนำเข้าไว้สูงถึง 60–80% ชี้ให้เห็นแนวทางว่ารัฐบาลไทยพร้อมยอมโอนอ่อนผ่อนปรนให้สหรัฐฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

...

ขณะที่สหรัฐฯก็คงไม่มุ่งแค่ดุล การค้า แต่จะโยงไปถึงมิติอื่นๆ โดยเฉพาะมิติการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อกดดันไทยที่ถูกมองว่าเอนเอียงไปทางจีน ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับชั้นเชิงในการเจรจาของรัฐบาลและการปรับสมดุล 2 มหาอำนาจให้เหมาะสม โดยยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เป็นลูกไล่ ยอมเสียเปรียบทุกอย่าง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม