เหตุการณ์สึนามิมาสู่น้ำท่วมใหญ่ ดินโคลนถล่มภาคเหนือตอนบน ล่าสุด แผ่นดินไหวรุนแรงครั้งประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์โลกรวน โลกเดือด ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติสัมผัสได้ถึงอำนาจที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างราชการ ส่วนกลาง ภูมิภาค กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

เริ่มตั้งแต่การเตือนภัย แผนรับมือภัยพิบัติและแผนการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านพ้นไป หลายฝ่ายเห็นว่าราชการส่วน กลางและภูมิภาคที่เป็นฝ่ายกำหนดแผนระดับชาติหรือระดับจังหวัด โดยประชาชนในพื้นที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีส่วนร่วมเมื่อเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้น แผนดังกล่าวแทบเป็นเพียงแผ่นกระดาษที่ไร้ความหมาย

จึงเห็นปรากฏการณ์สับสนอลหม่าน ตามมาด้วยความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ ด้วยเหตุนี้สังคมจึงกดดันรัฐบาลให้กระจายอำนาจให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กำหนด แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ โดยบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญหมวดการกระจาย อำนาจ อย่างน้อยให้ อปท.มีอำนาจบริหารจัดการภัยพิบัติบริการสาธารณะในพื้นที่

สอดคล้องกับจุดยืนพรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีนโยบายสนับสนุนการกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลาง ตรงกับนโยบายทุกจังหวัดก้าวหน้าของพรรคประชาชน รวมถึงพรรคภูมิใจไทยที่เสนอนโยบายภาษีบ้าน เกิดเมืองนอน เมื่อระดับสามพรรค การเมืองใหญ่รวมกัน ก็มีพลังมากพอที่จะผลักดันให้สำเร็จ

รวมถึง สว.ตัวแทนปวงชนชาวไทย ควรสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วยเพราะนายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. ประธานคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ รับฟังเสียงของประชาชนพบว่าต้องการให้กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถึงขั้นเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

ขณะที่ อปท.เตรียมพร้อมยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดการกระจายอำนาจไว้เรียบร้อยแล้ว หลังได้ถอดบทเรียนจากการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 พบปัญหาเช่นเดียวกับการรับมือภัยพิบัติจากธรรมชาติที่ถูกอำนาจส่วนกลางและภูมิภาคกดทับ ทำให้ไม่สามารถป้องกัน ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที

...

ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยที่ถูกมองว่าเป็นตัวเตะถ่วงการกระจายอำนาจมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในเมื่อโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางเป็นตัวซ้ำเติม ทำให้แก้ปัญหาได้ล่าช้า ดังนั้น จึงถึงเวลาทุกฝ่ายพิสูจน์ความจริงใจกับประชาชนในการเดินหน้ากระจายอำนาจ.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม