มุมการเมืองที่ทับซ้อนกันอยู่นั้นแม้ทุกสายตาพุ่งเป้าไปที่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน
แต่อีกมุมหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวทิ้งร่องรอยให้เห็นว่ากำลัง
ทำอะไรกันอยู่ระหว่างซุ้มบ้านจันทร์ส่องหล้ากับซุ้มเขากระโดงแห่งบุรีรัมย์
เกมแห่งอำนาจที่อยู่ในฉากตบจูบนั้นไม่มีหยุดนิ่ง เพียงแต่รอจังหวะก้าวด้วยการขับเคลื่อนไหวชิงเหลี่ยมกันอยู่ตลอดเวลา
“ฮั้วเลือกตั้ง สว.” ที่ทำให้กลุ่ม “นายใหญ่” กุมสภาพเหนือกว่ากลุ่ม “ครูใหญ่” เนื่องจากสามารถใช้ดีเอสไอทำงานอย่างได้ผล
จนสามารถใช้เป็นเครื่องมือต่อรองที่ตรึงอีกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม
ดีเอสไอเคลื่อนไหวเมื่อไรก็ทำให้อีกฝ่ายสั่นไหวทันที
ทำให้ดีลการเมืองระหว่าง 4 ผู้มากบารมีที่บ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งล่าสุดได้เริ่มปฏิบัติการ โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายสีน้ำเงินเล่นบทพระเอกอยู่ฝ่ายเดียว
แต่ “เพื่อไทย” เสียหน้าเสียราคานี้เป็นเรื่องที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เลือดขึ้นหน้าไม่น้อย จึงต้องให้ค่ายสีน้ำเงินแก้หน้าให้
เพราะ “เพื่อไทย” ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมุมที่พวกเขาต้องการ แต่ “ภูมิใจไทย” จูงแขน สว.คัดค้านด้วยการวอล์กเอาต์ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
ทำให้การประชุมต้องล่มถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะประเด็นที่จะยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นต้องทำประชามติหรือไม่
ปรากฏ “ภูมิใจไทย” และ สว.สีน้ำเงินไม่เอาด้วย!
แต่ล่าสุด “เพื่อไทย” ก็เดินเรื่องใหญ่เพื่อยื่นคำร้องอีก ปรากฏว่าภูมิใจไทยและ สว.กลับลำหันมาให้การสนับสนุนแบบพลิกลิ้นตัวเอง
นั่นทำให้รัฐสภามีมติเห็นชอบที่จะส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ สำเร็จ
...
ก็เลยมีคำถามว่าทำไมภูมิใจไทยจึงต้องทำอย่างนั้น คำตอบง่ายๆ
ก็เพราะดีเอสไอเดินหน้าลุยคดี สว.เข้มข้นขึ้น
“สีน้ำเงิน” จึงต้องเปลี่ยนแนวทางใหม่เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งคือการแต่งตั้งบุคคลเป็นตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญ 2 คน แทนที่คนเก่าที่ครบวาระก็ได้เห็นเกมข่มขย่มอีกฝ่าย
บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ สว.ลงมติเห็นชอบนั้น มี 2 คน!
1.“สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬา
2.“ชาตรี อรรจนานันท์” อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์
ทั้ง 2 คนนี้ คณะกรรมการสรรหามีมติ 8 ต่อ 0 เห็นว่าสมควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีคุณสมบัติดีเด่น
แต่ปรากฏว่า สว. (สีน้ำเงิน) ตีตกสอบไม่ผ่าน!
คนแรกนั้นก็ด้วยเหตุผลเพราะเคยเสนอความเห็นเชิงวิชาการว่า
การแก้ไข ม.112 นั้นสามารถทำได้ ซึ่งขัดกับจุดยืนของค่ายนี้
จึงไม่น่ามีปัญหาอะไรมาเกี่ยวข้อง
แต่คนต่อมานั้นมีปัญหาเพราะเคยคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการลงนามข้อตกลงเอ็มโอยู 44 กับกัมพูชา ซึ่งเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น
การที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องห้ำหั่นกับ “ทักษิณ” แน่
คำถามที่ว่าทำไมชื่อ “ชาตรี” ถึงถูกตีตกก็เพราะเหตุนี้
การที่ สว.สีน้ำเงินเปิดปฏิบัติการที่ตรงข้ามกับ สว.ด้วยกันเองและในสายตาของคนทั่วไปที่เห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม
ก็เพราะซุ้มเขากระโดงต้องการเอาใจซุ้มจันทร์ส่องหล้าเพื่อแลกเปลี่ยนกับคดีฮั้วเลือกตั้ง สว.ที่เป็นชนักติดหลังอยู่
คนดีๆเก่งๆก็เลยซวยไปด้วย!
“สายล่อฟ้า”
คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม