ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคที่ โลกล้อมประเทศ มหาอำนาจมีอิทธิพลกับอนาคตประเทศ มีผลต่อนโยบายการต่างประเทศ และการตัดสินใจของผู้นำประเทศบนวิสัยทัศน์ และภาวะผู้นำสูงสุด การเหยียบเรือสองแคมไม่มีประโยชน์อีกต่อไป การยึดโยงประโยชน์จากความสัมพันธ์ในอดีต ไม่มีความหมายสำหรับโลกยุคปัจจุบัน จะคบกันมา 50 ปี 75 ปี หรือ 100 ปี เป็นเรื่องของอดีต

สิ่งที่จะตามมาคือเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การสนับสนุน ความช่วยเหลือ หรือมาตรการกีดกันทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจยกตัวอย่าง วันนี้มิตรประเทศของสหรัฐฯในอดีต ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ยังทำตัวไม่ถูกกับนโยบายด้านต่างประเทศของทรัมป์ คำว่ามิตรแท้และศัตรูที่ถาวรไม่มีอีกต่อไป

มหาอำนาจ จีน รัสเซีย สหรัฐฯ พร้อมที่จะจับมือกัน ถ้าผลประโยชน์ลงตัว ทำให้ทุกประเทศต้องกลับมาทบทวนนโยบายต่างประเทศว่าจะอยู่ด้วยการ พึ่งพาตัวเอง หรือจะยอมเป็นลูกแหง่ให้คนอื่นจูงจมูก สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ไม่ให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาใดๆ อนุสัญญาใดๆ ความสัมพันธ์ใดๆ ข้อตกลงใดๆ นโยบายต่างประเทศจึงไม่อยู่บนข้อผูกมัดใดๆทั้งสิ้น

แต่ ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสให้มากที่สุด กรณีศึกษาจาก สงครามรัสเซีย–ยูเครน เห็นความชัดเจนคำว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ นอกจากผลประโยชน์ตอบแทน และที่กำลังจะกลายเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย การส่งตัว 40 ชาวอุยกูร์ให้จีน แน่นอนว่าไม่จบลงเพียงเท่านั้น ยิ่งไทยทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้จีนมากเท่าไหร่ ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวโลกก็ยิ่งตกต่ำเท่านั้น

ทั้งจีนและสหรัฐฯ และประเทศโลกเสรี ใช้กรณีนี้เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเองบนความเสี่ยงของไทย แรงกดดันและผลกระทบจะตกอยู่กับประเทศไทยในอนาคต จะตกอยู่กับไทยแต่เพียงผู้เดียว มีการวิเคราะห์ว่า ไทยกำลังเลือกที่จะคบกับจีน เช่น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญกับการมีสัมพันธ์อันอบอุ่นกับปักกิ่งเหนือวอชิงตัน รวมทั้งไทยด้วย

...

ข้อกล่าวหา การละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักการห้ามการส่งกลับ สิทธิพื้นฐานการลี้ภัย และการไม่ถูกบังคับ ทั้งหลายทั้งปวงสาดเข้ามาที่ไทยโดยตรง โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุ นี่เป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตราย ซึ่งมีการห้ามอย่างเด็ดขาด ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการทรมานที่ไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนได้ เป็นการละเมิดหลักการและภาระผูกพันของรัฐบาลไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

การจับปลาสองมือในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ไม่ใช่แค่ประเทศ แต่ประชาชนตาดำๆต้องรับกรรมไปด้วย สิ่งที่จะต้องทบทวนเป็นการด่วนคือ เราจะยืนอยู่บนขาตัวเองหรือจะยืมจมูกคนอื่นหายใจ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม