อาการที่เห็นและเป็นไปนั้น มันส่อให้รู้ว่า ไปไม่รอดแน่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่พรรคการเมืองบางพรรคมุ่งมั่น

ล่าสุด แค่ประชุมรัฐสภาวันแรกก็ตกม้าตายแล้ว เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ หลังจากที่มีการเสนอญัตติเพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น

ต้องทำ “ประชามติ” ก่อนหรือไม่?

ปรากฏที่ประชุมไม่เห็นชอบ ทำให้ประเด็นนี้ยุติไป

ปรากฏมี สว.จำนวนหนึ่ง (สีน้ำเงิน) ได้ประกาศไม่ขอร่วมประชุมด้วยและเดินออกจากห้องประชุม ซึ่งก่อนหน้านี้ สส.พรรคภูมิใจไทยได้ประกาศไม่ร่วมประชุมมาแล้ว

จนมาถึงจุดนับองค์ประชุม ปรากฏว่าไม่ครบจึงต้องปิดการประชุม โดยพรรคประชาชนพยายามที่จะยื้อเพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไป

เพราะพรรคนี้ทุ่มสุดตัวเพื่อหวังแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ!

ปมปัญหาสำคัญคือการที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนทำประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้นั้น

ทำให้พรรคการเมืองโดย สส.และ สว.เกรงว่าจะเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะถูกลงโทษพ้นจากสมาชิกและถึงขั้นยุบพรรคได้

จึงต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อย้ำว่าต้องทำหรือไม่ทำประชามติก่อน

“ประชาชน” นั้นมั่นใจว่าทำได้เพราะเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากประชาชน พูดง่ายๆไม่กลัวขอให้แก้ได้เท่านั้น

“เพื่อไทย” ก็เป็นแบบกลัวๆกล้าๆ เพราะต้องการแสดงตัวว่าเอาจริงเอาจังที่จะแก้ไข เนื่องจากประกาศเอาไว้แล้ว

พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ต้องเกรงจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน อีกทั้งไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีประเด็นที่จะแก้ไข ม.1 และ ม.2 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จึงไม่เอาด้วย

ว่าไปแล้วพรรคการเมืองส่วนใหญ่นั้นต่างก็ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีข้อแม้สำคัญคือไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไข ม.ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

...

แต่ “ภูมิใจไทย” นั้นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่ต้องการแก้ไข เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นเหมาะสมแล้ว

เอื้อประโยชน์พรรคมากกว่า!

เช่นกัน สว.ส่วนใหญ่ที่อยู่สาย “สีน้ำเงิน” ก็คิดตรงกับพรรคภูมิใจไทย ยิ่งประเด็นที่จะมีการแก้ไขเพื่อลดอำนาจพวกเขาพ่วงไปด้วย

ก็ยิ่งต้องขวางเต็มพิกัด...

ว่าไปแล้วไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น แม้จะผ่าน สส.ไปได้ แต่ถ้า สว.ไม่เอาด้วยก็ไปไม่รอด เพราะต้องให้ สว.1 ใน 3 เห็นชอบ

รัฐธรรมนูญที่แก้ไขจึงจะผ่านไปได้

พูดง่ายๆว่าแทบจะไม่มีช่องทางเลยก็ว่าได้

พรรคประชาชนนั้นแม้มีเจตนาดี หวังได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เขียนโดยประชาชน เพื่อประชาชน

แต่การมุ่งเน้นที่จะไปแก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและตัดอำนาจ สว. จึงเป็นอุปสรรคที่ยากจะฝ่าไปได้

เพราะนี่แหละคือปัญหาที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก

เพราะแม้แต่ “เพื่อไทย” แม้จะสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อจำกัดเช่นกัน โดยเฉพาะการไม่แตะต้องหมวดสำคัญ

ถึงที่สุดจะแก้ไขหรือไม่แก้ “เพื่อไทย” ไม่อีนังขังขอบเท่าใดนัก คือ แก้ได้ก็ดี แก้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่ที่มีแอ็กชันมากหน่อยก็เพราะ

ไปประกาศไว้ว่า จะต้องแก้ไข

มันก็เลยผูกมัดที่ต้องการทำให้ประชาชนเห็นว่า พยายามแล้วแต่มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้น!


"สายล่อฟ้า"

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม