คะแนนดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2567 เรียกง่ายๆคือคะแนนความโปร่งใสที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่างๆ จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยได้ 34 คะแนน อยู่ลำดับ 107 ของโลก เป็นอันดับ 5 อาเซียน แย่ลง กว่าปี 2566 ที่ได้ 35 คะแนน
ถือเป็นคะแนนความโปร่งใสต่ำสุดในรอบ 12 ปีของประเทศไทย สะท้อนให้เห็นเป้าหมายการลดทุจริตตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561—2580) ที่มีแผนจะยกระดับคะแนน CPI ให้ได้ 57 คะแนน หรืออยู่ในลำดับไม่เกิน 43 ของโลก ภายในปี 2566—2570 มีแนวโน้มไม่เป็นไปตามเป้า มิหนำซ้ำยังมีคะแนนลดต่ำลงเรื่อยๆ
ค่า CPI ปี 2567 ประเทศไทย พบว่ามีคะแนนต่ำลงจากปี 2566 ใน 4 ด้าน จาก 9 ด้าน ได้แก่ 1.IMD การติดสินบนและทุจริตมีมากน้อยเพียงใด 2.WEF ภาคธุรกิจต้องจ่ายสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด 3.EIU ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 4.GI การดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการทุจริตเพียงใด
เนื่องจากผู้ประเมินมองว่าแม้ภาครัฐจะแสดงออกให้เห็นความชัดเจนถึงการให้ความสำคัญปัญหาการทุจริต เอาจริง เอาจังการบังคับใช้กฎหมาย มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาตต่างๆ แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดการรับรู้ในเชิงลบ
มีการสะท้อนมุมมองความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ มีการบริหารงบประมาณขาดประสิทธิภาพ อาทิ นโยบายประชานิยม นำงบประมาณประเทศไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลใช้จ่าย งบประมาณอย่างไม่สมเหตุสมผลขาดความคุ้มค่า ไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบด้านธรรมาภิบาลประเทศ
ขณะที่กลุ่มนักลงทุนที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเห็นว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ต้องเผชิญการเรียกรับเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในการประกอบธุรกิจ โดยมองว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตไม่เพียงพอ และการดำเนินการบางนโยบายอาจเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนหรือบริษัทขนาดใหญ่
...
ค่า CPI ที่ลดลงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงาน ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐบาล ป.ป.ช. ภาคประชาชน ต้องบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน แสดงเจตจำนงชัดเจนในการป้องกันและปราบปราม เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบทุจริต ยกระดับดัชนีความโปร่งใสประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นความจริงใจในการแก้ปัญหาทุจริตอย่างแท้จริง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม