หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ รีเทิร์นนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.68 ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เปิดสงครามการค้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากนานาชาติ เริ่มจากแคนาดา เม็กซิโก ในอัตรา 25% จีนอีก 10% และเตรียมจะขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรป และกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม และไทย
โดยมุ่งเน้นไปที่ประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯขาดดุล โดยมีข้อมูลว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย.67 จีนมีมูลค่าการค้าเกินดุลสหรัฐ อเมริกา เป็นอันดับ 1 ประมาณ 2.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เม็กซิโกเกินดุล 1.57 แสนล้านดอลลาร์ เวียดนามเกินดุล 1.13 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ประเทศไทยเกินดุล ประมาณ 4.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รัฐบาลต้องเร่งหารือร่วมกับภาคเอกชน และตั้งวอร์รูมขึ้นมาติดตามนโยบายทรัมป์ 2.0 เพื่อกำหนดกลยุทธ์การทำงาน
ขณะที่สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ชี้สงครามการค้าในระยะต้นส่งผลกระทบให้หุ้นทั่วโลกปรับลดลง ตลาดเงิน ตลาดทุนผันผวน ระยะกลางภาคธุรกิจ ตลาดการค้าจะปรับตัวเพื่อตอบสนองมาตรการภาษีสหรัฐฯ โดยจีนจะขยายตลาดส่งออกใหม่ ส่งผลต่อการค้าในภูมิภาคอาเซียน
และในระยะยาวเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการค้าโลก อาจนำไปสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่ อุปทานใหม่โดยเน้นการผลิตในประเทศมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ไทยจำเป็น ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านการค้า เช่น การกระจายตลาดส่งออกในต่างประเทศ เจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเพิ่ม เพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต
ภายใต้สงครามการค้ารอบใหม่ ไทยจึงต้องเตรียมรับมือมาตรการจากสหรัฐฯ โดยถือเป็นจังหวะดีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้พบหารือกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และหลี่ เฉียง นายกฯจีน ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน การเจรจาเป็นไปด้วยความชื่นมื่น
...
ทั้งเรื่องความร่วมมือปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ขยายการลงทุนในไทย และขยายตลาดสินค้าไทยในจีน โดยผู้นำจีนรับปากสนับสนุนไทยเต็มที่ เมื่อไทยเป็นประเทศเล็กๆไม่อาจต่อกรกับสหรัฐอเมริกาได้ จึงต้องเร่งปรับดุลสัมพันธภาพกับจีนและสหภาพยุโรป ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม