ความคืบหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุดรัฐสภานัดพิจารณาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ ทั้งร่างรายมาตราและทั้งฉบับ ประกอบด้วย ร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรค เพื่อไทย ระบุว่าขณะนี้ยังมีความกังวลจากสมาชิกรัฐสภาว่าสุดท้ายแล้วจะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง
จึงได้เสนอผ่านไปทางวิปรัฐบาลให้มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 210 ให้วินิจฉัยว่าจำเป็นต้องทำประชามติกี่ครั้ง ยืนยันว่าการยื่นวินิจฉัยครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุ ระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หมายความว่าเรื่องเกิดขึ้นแล้ว โดยคนที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะเป็น สส. หรือ สว.ก็ได้ สามารถยื่นได้ทันที หรือหากมีการประชุมไปแล้วก็สามารถยื่นได้เช่นกัน เชื่อว่าจะทำให้สมาชิกทุกคนเกิดความสบายใจ เพราะหากเดินหน้าต่อไป อาจทำให้ สส. และ สว.หลายคนเกิดความกังวล ไม่กล้าพิจารณาโหวตร่างรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้คว่ำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเสียก่อน เพราะจะเป็นการเสียของ ส่วนสมมติว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เดินหน้าทำประชามติ แค่ 2 ครั้ง จะยึดร่างของพรรคเพื่อไทยที่ไม่แก้ในหมวด 1 และ 2 หรือร่างพรรค ประชาชนที่เสนอให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ ยังไม่มีการพูดคุยกันถึงขั้นตอนนั้น ขอให้ผ่านขั้นตอนแรกก่อน
ทั้งนี้น่าแปลกใจกติการัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะข้อจำกัดขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ที่เห็นแล้วงุนงง เรื่องยังไม่เกิดจะไม่พิจารณาวินิจฉัย ต้องรอให้เรื่องเกิดขึ้น ก่อนถึงจะรับพิจารณาวินิจฉัยได้ ข้อนี้ไม่น่าจะสร้างประโยชน์ใดๆต่อประเทศชาติ เพราะนำมาซึ่งความเสียหาย เสียประโยชน์ เสียโอกาส และเสียงบประมาณมากกว่า
...
ต้องรอให้เกิดความเสียหายก่อน ถึงจะมาหารือพิจารณากันได้ ปล่อยให้ลองผิดลองถูกกันไป แล้วค่อยมาชี้วัดตัดสิน แทนที่จะเป็นการบอกกล่าวแนะแนวกันไปตั้งแต่ต้นจะได้ไม่ต้องเสียหาย เสียเวลา หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สมควรแก้ไขเรื่องนี้ด้วยเป็นอย่างยิ่ง สิ่งไหนใช้แล้วดีหรือไม่ดีก็จำเป็นต้องมีการทบทวนแก้ไขเพื่อให้ดีที่สุด
สำหรับท่าทีของ สส. สว.ที่ยังละล้าละลังไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งที่เป็นหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมายจากประชาชนมา ก็สืบเนื่องมาจากกติกาที่กลายเป็นกับดักฉุดรั้งการขับเคลื่อนประเทศแบบนี้ กลายเป็นข้ออ้างให้สมาชิกรัฐสภาบางส่วนที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปกปิดตัวเองได้อย่างแนบเนียน โดยอ้างเงื่อนไขกติกามาบังหน้า.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม