ถึงแม้จะมาช้าแต่ก็ดีกว่าไม่มา มติสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมียนมา 5 จุด แก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานบัญชาการ หลอกดูดเงินในบัญชีคนไทยรายวัน ที่สถานการณ์ทวีความรุนแรง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างความเสียหายมหาศาลในแต่ละปี

แต่กว่าจะเงื้อง่าออกมาตรการเด็ดขาดตัดกระแสไฟฟ้าจนเห็นผลเป็น รูปธรรมได้ รัฐบาลก็ต้องโดนเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ ตำหนิการทำงานหนาหูเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กฟภ. และ สมช. ต่างโยนกลองความรับผิดชอบกันไปมา นานร่วมสัปดาห์จึงจะมีผลทางปฏิบัติ สามารถสับคัตเอาต์ตัดกระแสไฟที่ส่งเข้าไปเมียนมาได้

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไป คือมาตรการ ดังกล่าวจะมีความเข้มข้นครอบคลุมเพียงพอ ที่จะตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้หรือไม่ เพราะช่วงเย็นวันที่ 5 ก.พ. คล้อยหลังการตัดไฟช่วงเช้าไม่กี่ชั่วโมง ปรากฏว่า จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา หนึ่งในจุดที่ ถูกตัดไฟ ตั้งอยู่ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็กลับมาสว่างไสวมีไฟฟ้าใช้เหมือนเดิม

เนื่องจากมีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้า โดยไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวมาทดแทน จึงไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียง จ.เมียวดี และเมืองชเวก๊กโก ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้รับผลกระทบบางส่วน แต่ตึกที่เป็นธุรกิจกลุ่มจีนสีเทา ยังมีไฟฟ้าใช้ตามปกติเพราะเตรียมเครื่องปั่นไฟ และสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงไว้จำนวนมาก

มาตรการตัดไฟจึงกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ผลแค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่สร้างผลกระทบมากมายต่อกลุ่มอาชญากรรม ข้ามชาติเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ ดำเนินการควบคู่ไปด้วย ทั้งการตัดการส่งน้ำมัน การตัดสัญญาณ อินเตอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์ ตามคำสั่งของ สมช.ที่ให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการตัดกระแสไฟฟ้า

...

แต่เท่าที่เห็นดูเหมือนจะมีแอ็กชัน เฉพาะมาตรการตัดไฟอย่างเดียว ส่วนมาตรการอื่นๆทั้งการตัดสัญญาณเน็ต โทรศัพท์ เส้นทางขนส่งน้ำมัน ยังไม่เห็นการขยายผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในทางปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถตัดวงจรการอำนวยความ สะดวกด้านสาธารณูปโภคไปยังเมืองที่เป็นแหล่งสแกมเมอร์ได้อย่างถึงที่สุด

ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำลายสังคมไทยมายาวนาน รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มข้น บูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง โดยใช้มาตรการเชิงรุกที่มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ แสดงให้เห็นความตั้งใจจริงในการเปิดปฏิบัติการถอนรากถอนโคนธุรกิจจีนเทา ไม่ใช่เทคแอ็กชันสร้างภาพแค่ชั่วครั้งชั่วคราว.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม