สถานการณ์เศรษฐกิจโลกถูกจับตามองเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางการค้า การลงทุนอีกครั้ง หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมัยที่ 2 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2568 โดยได้ลงนามคำสั่งพิเศษและประกาศต่างๆของฝ่ายบริหารทำเนียบขาวไปแล้วกว่า 100 ฉบับ

เป็นการวางแนวทางบริหารประเทศใน 4 ปีข้างหน้า ส่วนใหญ่เป็นการรื้อและล้มเลิกนโยบายยุค “โจ ไบเดน” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อพลิกโฉม และฟื้นเศรษฐกิจ ภายใต้นโยบาย Make America Great Again (MAGA) การทำให้ สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พร้อมประกาศยุคทองของอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเพิ่มอีก 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ เป็นการส่งสัญญาณตอกย้ำความตั้งใจเดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีการค้าเชิงรุกกับคู่แข่งสำคัญอย่างจีน รวมถึงการขู่ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อชดเชยการขาดทุนการค้ากับอียู

ต่อเนื่องจากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ การออกมาตรการกำแพงภาษีเข้มข้นกับคู่แข่งการค้าเหล่านี้ เพื่อลดการขาดดุลการค้า ให้ดุลการค้าสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้น แต่นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคู่ค้าหลายประเทศ และส่งผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงตกเป็นเป้าถูกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นเรื่องน่ากังวล เพราะไทยพึ่งการส่งออกไปยังสหรัฐฯกว่า 17% ของการส่งออกทั้งหมด ดังนั้นไทยควรเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ ลดการพึ่งพาส่งออกไปยังสหรัฐฯ

นายเกรียงไกรยังบอกด้วยว่า ส.อ.ท.เสนอให้ภาครัฐตั้งวอร์รูมร่วมกับเอกชนเพื่อรับมือสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกาในรอบนี้ เพื่อวางแผนให้เป็นระบบ และจับตาสถานการณ์ผกผันและเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด จากนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทยทั้งหมด

...

แนวโน้มความปั่นป่วนสงครามการค้าโลก ทำให้ประเทศไทยต้องมีนโยบายต่างประเทศเป็นกลางในยุทธศาสตร์โลกแบ่งขั้ว จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเจรจากับสหรัฐฯ และรักษาสมดุลกับจีนควบคู่กันไป เพราะมีทั้งวิกฤติและโอกาสให้ต้องเผชิญเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องเร่งปรับตัว เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติไว้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม