นายกฯ อิ๊งค์เปิดทำเนียบรัฐบาลรับทูตสหรัฐฯนำบิ๊กธุรกิจชั้นนำกว่า 40 บริษัทเข้าพบตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐฯ “โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค” ยาหอมนโยบายรัฐบาลพร้อมร่วมมือทั้งการค้าการลงทุน และความร่วมมือทุกระดับ ลุ้น ครม.สัญจรไฟเขียวเงินหมื่นเฟส 2 กมธ.สภาข้องใจมติกรรมการกรมที่ดิน ไม่ยอมเพิกถอนที่ดินเขากระโดง ตอกหน้าอย่ามาอ้างไม่ใช่คู่กรณี 2 หน่วยงานงัดข้อกันไม่เลิก “วิโรจน์” แฉแม้แต่ค่ายทหารยังต้องหลีกทางให้ “ขาใหญ่บุรีรัมย์” “อนุทิน” ย้ำอย่าโยงการเมือง “พริษฐ์” ตื๊อ “วันนอร์” แก้ รธน.มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. เลขาฯสภาฯแย้มมีโอกาสกลับมติ “นิกร” ขู่ ปธ.สภาฯอาจตกที่นั่งซวยได้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดทำเนียบรัฐบาลให้การต้อนรับหารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน นำโดยนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐฯ ทั้งด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในทุกระดับ

ทูตสหรัฐฯนำ “บิ๊กธุรกิจ” พบนายกฯ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย.ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับและหารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน นำโดยนายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และนายไบรอัน แม็คฟีเตอร์ส รองประธานอาวุโส และกรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาค สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวนกว่า 40 บริษัท ครอบคลุมในธุรกิจพลังงาน สาธารณสุข เทคโนโลยีดิจิทัล การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ น.ส.แพทองธารกล่าวถึงการเยือนนครลอสแอนเจลิสที่ผ่านมาว่า เชิญชวนให้เอกชนสหรัฐฯ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมในอนาคต และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มาถ่ายทำในไทย มีนโยบายสนับสนุนเงินคืน 30% สัปดาห์ที่ผ่านมาได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายโดนัลด์ เจ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายทรัมป์แสดงความยินดีกับพัฒนาการเชิงบวกของไทย โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งย้ำถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่มุ่งพัฒนาความร่วมมือในทุกภาคอุตสาหกรรม และไทยหวังจะแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ในการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่างๆ

...

ลุยลงทุนสร้างงานคนไทยนับหมื่น

นายโรเบิร์ตกล่าวว่า วันนี้มีนักธุรกิจจากหลากหลายภาคส่วนที่มีมูลค่าทางการค้ารวมกันนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการลงทุน และสร้างงานนับหมื่นให้คนไทย ก่อนหน้านี้คณะ USABC มีการประชุมกับรัฐมนตรีของไทยหลายท่าน ได้ผลที่น่าพอใจเป็นการตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐฯ ทั้งการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในทุกระดับ ขอชื่นชมนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับภาคเอกชน รวมถึงนโยบายในการอำนวยความสะดวกในการลงทุน (Ease of Doing Business) การส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงภาคการเงิน และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลในการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุนร่วมไทยและสหรัฐฯ ต่อไป

ลุ้นเงินหมื่นเฟส 2 ชง ครม.สัญจร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งแรกของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 พ.ย. นอกเหนือจากวาระคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) มีมติเห็นชอบเงินช่วยเหลือชาวนาช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปัจจัยการผลิตข้าว เป็นเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 10,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท และวาระศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เตรียมเสนอขออนุมัติงบกลางเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมโครงการและฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 564 ราย วงเงิน 2.9 พันล้านบาท ยังมีวาระสำคัญคือกระทรวงการคลังเตรียมเสนอขอความเห็นชอบนโยบายรัฐบาลเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลเฟส 2 ให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3-4 ล้านคน ให้สามารถใช้จ่ายได้ก่อนช่วงตรุษจีนปี 2568

กมธ.ที่ดินข้องใจมติ กก.กรมที่ดิน

เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร มีนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธาน กมธ. ทำหน้าที่ประธานการประชุม หารือปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างกรมที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการ รฟท. เข้าชี้แจง แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง นายพูนศักดิ์ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า กมธ.มีความสงสัยในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ที่มีมติไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดง มีกระบวนการแต่งตั้งถูกต้องหรือไม่ กมธ.จะดูทั้งเรื่องข้อกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการมีข้อบกพร่องหรือไม่ เพื่อนำมาแก้ไขและ รฟท.จะอุทธรณ์มติคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 ที่มีมติไม่เพิกถอนที่ดินเขากระโดงหรือไม่

“ทรงศักดิ์” ให้พิสูจน์สิทธิเป็นรายๆ

ด้านนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย กล่าวในที่ประชุม กมธ.ว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับ กมธ.ในการตรวจสอบที่ดินเขากระโดง กรณีดังกล่าวไม่ได้กระทบกับสิทธิคนคนเดียว แต่กระทบทั้ง รฟท. และประชาชน เห็นใจประชาชน 900 กว่ารายที่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมาย หลายคนเข้าใจว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.ทั้งหมด แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความเท่านั้น ส่วนคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความต้องมีการพิสูจน์สิทธิในการเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากเพิกถอนทั้งหมดจะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่

รฟท.–กรมที่ดินยังงัดข้อกันไม่เลิก

ต่อมาเวลา 13.30 น. นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี แถลงผลการประชุม กมธ.ว่า กมธ.ยังไม่ได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจนเรื่องปัญหาที่ดินเขากระโดงจากหน่วยงานต่างๆ ต้องตรวจสอบเพิ่มหลายประเด็น เช่น กรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. ที่ไม่มีข้อยุติเรื่องแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน รฟท. ว่าครอบคลุมสนามแข่งรถ สนามกีฬาหรือไม่ ขณะที่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ที่มีเอกสารสิทธิและโฉนดที่ดินเขากระโดงที่ภาครัฐออกให้ และมีข้อพิพาทออกโดยชอบหรือไม่นั้น รฟท.และกรมที่ดินยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา กมธ.ขอให้หน่วยงานต่างๆส่งเอกสาร
เพิ่มเติมให้ กมธ.ภายใน 15 วัน เพื่อตรวจสอบรายละเอียด ก่อนจะลงพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จากนั้น กมธ.จะนัดประชุมใหญ่อีกครั้ง ช่วงเดือน ม.ค.2568 ก่อนสรุปประเด็นจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร แต่เบื้องต้นภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ตอกหน้าอย่ามาอ้างไม่ใช่คู่กรณี

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิที่ดินเขากระโดง เมื่อมีคำพิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ต้องปฏิบัติตาม กรณีเขากระโดงไม่ใช่แนวเส้นทางรถไฟ แต่ รฟท.เคยใช้ประโยชน์ จึงได้กรรมสิทธิ์เพราะเคยใช้ประโยชน์ ดังนั้นกรมที่ดินต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา แต่เหตุผลที่ไม่เพิกถอนเพราะไม่มีแผนที่ของ รฟท.ที่ชัดเจน แม้จะมีการรังวัดที่ดินแต่ไม่ปรากฏแผนที่ที่ดินชัดเจน กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าต้องทำแผนที่ให้ชัดเจน เพื่อให้กรมที่ดินบังคับตามคำพิพากษาได้ ขอให้กรมที่ดินจัดส่งเอกสารแผนที่ให้ กมธ.อีกครั้ง ส่วนที่กรมที่ดินระบุไม่ใช่คู่ความในข้อพิพาท ถือว่าไม่ถูกต้อง กรมที่ดินเป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่บริหารและกำกับที่ดิน เมื่อมีคำพิพากษาที่มีผู้สามารถอ้างอิงกับบุคคลภายนอกได้ ดังนั้นพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ทั้งหมด

แฉค่ายทหารต้องเลี่ยง “ขาใหญ่”

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การประชุม กมธ.วันที่ 28 พ.ย. เชิญผู้ว่าการ รฟท. ผวจ.บุรีรัมย์ อธิบดีกรม ที่ดิน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 (ผบ.มทบ.26) (ค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) มาชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนการก่อสร้างค่าย มทบ.26 อาจก่อสร้างผิดที่จากที่ขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 เพราะสถานที่เดิมที่จะก่อสร้างเป็นข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง มีบุคคลอ้างว่าซื้อมาจากตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง แล้วมีการไปฟ้องร้อง รฟท. จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเป็นที่ดินของ รฟท. ค่าย มทบ.26 จึงต้องไปสร้างห่างจากพื้นที่ขออนุญาตถึง 2 กิโลเมตร สงสัยว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ทรงอิทธิพลถึงขนาดค่ายทหารต้องยอมย้ายค่ายหนีจริงหรือไม่

นายต่อพงษ์ จีนใจน้ำ อดีตผู้สมัคร สส.บุรีรัมย์ พรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาประจำ กมธ. กล่าวว่า พิจารณาที่ตั้งค่ายปัจจุบันเปรียบเทียบกับหนังสืออนุญาตก่อสร้าง มีหลักเขตชัดเจนว่าทิศเหนือจรดที่ดิน รฟท. แต่พบว่าที่ดินก่อสร้างปัจจุบันทิศเหนือจรดที่เอกชน ทำให้สงสัยเหตุใดกองทัพไม่ก่อสร้างค่ายทหารในที่ดินที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่แรก เพราะเป็นที่ดินติดกับเขากระโดงของตระกูลใหญ่หรือไม่ จ.บุรีรัมย์มักมีเรื่องแปลกๆเกิดขึ้น

“อนุทิน” ขออย่านำไปโยงการเมือง

ที่กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า เรื่องนี้ขออย่านำการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีปฏิบัติทุกอย่างเป็นไปตามหลักการทางราชการ ไม่สามารถมีอำนาจทางการเมืองเข้าไปสั่งการ ชี้แนะหรือแนะนำได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีคนพยายามโยงให้ไปเป็นความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อทราบแล้วต้องอยู่ห่างๆ ยืนยันไม่มีการช่วยเหลือใครเป็นกรณีพิเศษ ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมาย เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล

“พริษฐ์” ตื๊อ “วันนอร์” แก้ รธน.256

ช่วงสายที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เข้าพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หารือการผลักดันการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ต่อมานายพริษฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้นำข้อมูลเพิ่มเติม 2 ประเด็นมายื่นต่อนายวันนอร์ คือ 1.คำวินิจฉัยส่วนตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ระบุชัดเจนว่าทำประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอ 2.ข้อมูลที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯเข้าพบประธานศาลรัฐธรรมนูญสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเป็นข้อมูลใหม่ให้บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ขอให้คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรไปวินิจฉัยอีกครั้ง หวังว่าข้อมูลใหม่นี้จะเพียงพอให้ทำประชามติ 2 ครั้ง

ทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน

นายพริษฐ์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเคยสัญญากับประชาชนจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทันก่อนเลือกตั้งครั้งถัดไป แต่หากทำประชามติ 3 ครั้ง โอกาสจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนเลือกตั้งครั้งหน้ามีน้อยมาก หนทางที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริงคือ ลดประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง สิ่งที่อยากเห็นคือความมุ่งมั่นรัฐบาลที่รักษาสัญญากับประชาชน เมื่อถามว่าหากทำประชามติ 2 ครั้ง จะได้เห็น ส.ส.ร.ใหม่ทันปี 2568 หรือไม่ นายพริษฐ์ตอบว่า หากยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส.ส.ร. และคณะกรรมการประสานงานฯตัดสินใจบรรจุวาระในรอบนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ได้ทันทีที่เปิดสมัยประชุมเดือน ธ.ค.นี้ มีความเป็นไปได้จะผ่าน 3 วาระภายใน 3-6 เดือน หากเป็นเช่นนั้นประชามติรอบแรกอาจเป็นช่วงหลังของปี 2568 เมื่อประชามติผ่านแล้วจะมีกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หากทำทุกอย่างเสร็จในปี 2568 ส.ส.ร.จะมีเวลาในปี 2569 จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้นำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปทำประชามติรอบ 2 ได้ช่วงต้นปี 2570 เสร็จทันก่อนเลือกตั้งครั้งต่อไป

เลขาสภาฯแย้มมีโอกาสกลับมติ

ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้ข้อมูลใหม่จาก กมธ.พัฒนาการเมืองฯแล้ว จะนำไปประกอบคำวินิจฉัยเพื่อพิจารณาว่าคณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติที่เคยให้ความเห็นไม่บรรจุวาระการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 หรือไม่ อาจเรียกนายพริษฐ์มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งนี้ แม้คำวินิจฉัยที่เป็นความเห็นของตุลาการรัฐธรรมนูญรายบุคคล จะไม่มีผลทางกฎหมายเหมือนคำวินิจฉัยกลาง แต่อาจนำมาใช้พิจารณาประกอบแนวทางว่าต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง มีโอกาสที่คณะกรรมการประสานงานฯจะกลับมติก่อนหน้านี้ได้ ถ้าข้อมูลใหม่ช่วยให้ความกระจ่างมากขึ้น เพราะเรายึดคำวินิจฉัยกลางเป็นหลักและใช้คำวินิจฉัยส่วนบุคคลมาประกอบ

“นิกร” ขู่ ปธ.สภาอาจตกที่นั่งซวยได้

นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า มองว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ไม่มีทางเลี่ยงได้ การที่ กมธ.พัฒนาการเมืองเข้าพบประธานสภาฯให้บรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. และให้ทำประชามติ 2 ครั้ง คงไม่มีผลให้ลดจำนวนการทำประชามติได้ เนื่องจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา ประธานสภาฯอาจถูกร้องกระทำขัดแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครรับผิดแทนประธานสภาฯได้ เป็นไปได้ว่าจะมีปัญหาตั้งแต่ลงคะแนนเห็นชอบวาระแรก หากการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไม่สำเร็จ ต้องกลับไปนับหนึ่งในสมัยประชุมถัดไป การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จต้องรับฟังความเห็นภาคส่วนต่างๆให้เกิดการประนีประนอมร่วมกัน ถ้าทำขั้นตอนใดผิดพลาดล้มเหลว แทนที่จะเร็วขึ้นจะช้าไปอีกมาก

“ชูศักดิ์” ชี้ไม่มีเงื่อนไขม็อบจุดติด

วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประกาศนำม็อบลงถนนของอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ต้องพึงระลึกว่าอาจทำให้เกิดวังวนเดิมๆ จนประเทศไปไหนไม่ได้ ขณะที่ประเทศอื่นเจริญก้าวหน้าไปมาก ไม่อยากให้เดินถอยหลัง เมื่อถามว่าเงื่อนไขขณะนี้ทำให้ม็อบจุดติดหรือไม่ นายชูศักดิ์ว่า เราก็เห็นว่าไม่มีเงื่อนไขอะไร เรื่องเอ็มโอยู 44 ทำกันมาตั้งแต่ปี 44 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน ขณะนี้ยังไม่มีการเจรจายังไม่ตั้งคณะกรรมการกันด้วยซ้ำ เจรจาแล้วเสร็จต้องนำเข้ารับความเห็นชอบจากรัฐสภาอีก เมื่อถามว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อยู่ได้อีกไม่ถึง 1 ปี นายชูศักดิ์ตอบว่า คนเป็นฝ่ายค้านไม่มีทางพูดว่ารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี ไม่เห็นมีอะไร ไม่มีเรื่องหนักใจไม่มีเรื่องคอขาด บาดตาย เรื่อง
ร้องยุบพรรคก็ไม่ได้วิตกกังวลอะไร

ปชน. ไม่ร่วมม็อบ “สนธิ” ไล่รัฐบาล

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุอาจมีมวลชนพรรคประชาชนไปร่วมชุมนุมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อขับไล่รัฐบาลว่า เป็นการคาดการณ์ไม่แน่ใจว่านายณัฐวุฒิอ้างอิงจากข้อมูลอะไร แต่พรรคประชาชนทำหน้าที่แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ใช้กลไก สส.ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่หากจะมีประชาชนกลุ่มใดต้องการแสดงออกทางการเมืองผ่านการชุมนุม แม้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย แต่เราหวังว่าการชุมนุมดังกล่าวจะไม่ละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน ขณะนี้พรรคประชาชนไม่มีความพยายามเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ในลักษณะการชุมนุม แต่มีความชัดเจนจะทำงานผ่านกลไกสภาฯ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล เมื่อถามว่าจะไม่มีสส.พรรคประชาชนไปร่วมชุมนุมใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ตอบว่า ยืนยันว่าพรรคประชาชนเดินหน้าทำงานตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลผ่านกลไกสภาฯ

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่