“สรวงศ์” เผย ทานข้าวพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้มีปัญหาอะไร คุยเรื่องการทำงานในอนาคต ยัน เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำ คดีตากใบ “พิศาล” ต้องมาสู้คดีเอง คาด ออกกฎหมายยืดอายุความไม่ทัน 25 ต.ค.
วันที่ 21 ตุลาคม 2567 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงการนัดทานข้าว หรือ ดินเนอร์กับพรรคร่วมรัฐบาลค่ำนี้ ว่า เป็นการทานข้าวร่วมกันครั้งแรกหลังจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยไปในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และขาดช่วงไป นายกรัฐมนตรีจึงมีดำริให้นัดทานข้าวกัน
ส่วนจะเป็นเพราะท่าทีของพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะเรื่องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องพวกนี้คุยกันได้อยู่แล้ว และตอนนี้อยู่ในการจัดตั้งรัฐบาลแบบพรรคร่วมผสมหลายพรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและความประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ในการทำงานร่วมกันไม่มีปัญหาอะไร อาจมีการพูดคุยกันในเรื่องการทำงานในอนาคต ส่วนความขัดแย้งต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการทำงานทางการเมือง แต่ภาพรวมแล้วไม่น่ามีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามต่อ ยังยืนยันเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญยกร่างทั้งฉบับหรือไม่ เพราะเป็นนโยบายรัฐบาล นายสรวงศ์ ยืนยันว่าแน่นอน แต่สิ่งที่กังวลก็คือที่ทางสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลับมติต่างๆ ก็เกรงว่าจะไม่ทันในการนำคำถามการทำประชามติร่วมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ หากไม่ทันช่วงต้นปี 2568 จริงๆ การทำประชามติที่เกิดขึ้นก็ต้องทำแยกออกมา ซึ่งต้องใช้งบประมาณพอสมควร ถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มีประเด็นกันอยู่คือการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double majority) ซึ่งต้องรอการพูดคุยร่วมกันระหว่างกรรมการทั้ง 2 สภา
...
ทางด้านคำถามว่าจะสามารถยกร่างทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า อย่างน้อยต้องมีขั้นตอนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รวมถึงมาตรการและกระบวนการต่างๆ ตนมั่นใจว่าจะได้เห็นในรัฐบาลนี้แน่นอน
สำหรับเหตุการณ์คดีตากใบที่จะหมดอายุความ 25 ตุลาคม 2567 นายสรวงศ์ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยติดตามกระบวนการต่างๆ อย่างใกล้ชิด ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และทีมกฎหมายพรรคเองดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากมีอะไรที่เราสามารถช่วยเหลือเยียวยาความรู้สึกของประชาชนได้บ้าง อีกทั้งภาคประชาชนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างจริงจังจริงใจ มีการเสนอให้ทำพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ยืดอายุความออกไป
“อยากให้รัฐบาลขอโทษอย่างจริงใจ เราก็พร้อม แต่ก็มองว่าเรื่องนี้เป็นคนละรัฐบาล พรรคเพื่อไทยได้พูดคุยกับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี เราก็พยายามพูดจนเขาลาออก (ลาออกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)”
ส่วนเรื่องคดีความต้องให้ พล.อ.พิศาล กลับมาสู้คดีความด้วยตัวเอง หากจะต่ออายุความเป็นเรื่องของกฎหมาย จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะนำประเด็นนี้ไปคุยในพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวมองว่าหากนำเข้าที่ประชุม ครม. คาดว่าไม่ทัน.